คำพ่อสอน

• พอประมาณคือพอเพียง

BY Staff writer One

  • 21 ตุลาคม 2559
  • 91,424

"ให้ปลาฉันหนึ่งตัว ฉันมีกินแค่หนึ่งวัน สอนฉันจับปลา ฉันมีกินตลอดไป"

ถ้าจะขยายความง่ายๆ เลยก็คือ การหยิบยื่นสิ่งของให้กันนั้นเรียกว่าการช่วยเหลือกัน แต่เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่หยิบยื่นกันได้เพียงไม่กี่ครั้ง หากว่าถ้าช่วยเหลือด้วยการสอนให้เป็นและอยู่ได้ด้วยตัวเอง นั่นแหละคือการช่วยเหลืออย่างยั่งยืนให้เรามีภูมิคุ้มกันตัว

 

นี่คือหนึ่งในหลักการส่วนประกอบของหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ประกอบด้วย 3 ห่วง คือ  มีภูมิคุ้มกันตัวที่ดี + มีเหตุผล + พอประมาณ และ  2 เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ (รอบรู้, รอบคอบ, ระมัดระวัง) + เงื่อนไขคุณธรรม (ซื่อสัตย์, ขยันอดทน, แบ่งปัน)

 

 

 

ส่วนการมีเหตุผลอย่างจริงใจกับตัวเองก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องให้กับความพอประมาณที่ไม่หลอกตัวเองจนเกินความต้องการไปเป็นความฟุ่มเฟือย ต้องพอดีไม่มากจนเกินไป หรือน้อยจนเกินไป จนตัวเองเดือดร้อนหรือรบกวนผู้อื่น

 

 

 

 

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

 

ใจความสำคัญของพระราชดำรัสนี้ก็คือ การรู้จักบริหารจัดการเท่านั้นเอง หากเรามีพื้นฐานที่ดีและมั่นคงด้วยความพอเพียง การหาความสุข สนุกบนพื้นฐานนี้แล้วก็ทำได้ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้ใช้จ่าย แต่ถ้าใช้จ่ายมากจนเกินความต้องการก็จะเรียกว่า 'ฟุ่มเฟือย' เพียงแค่ให้พอดีกับความต้องการในการใช้งานและคุ้มค่า ไม่ใช่บอกว่าต้องประหยัดจนตัวเองอึดอัดแต่ประหยัดให้มีความสุขเท่าที่ใจต้องการ เพียงพอกับการที่จะต้องใช้งานเท่านั้น

 

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องจริงใจกับตัวเอง ให้เข้าใจในความพอซึ่งในแต่ละบุคคลอาจจะไม่เท่ากัน เข้าใจในชีวิตของตัวเองที่ไม่ต้องไปเทียบกับคนอื่น และต้องยืนได้อยู่บนความเข้มแข็งของตัวเอง หากในเดือนหนึ่งคุณจะใช้บัตรเครดิตจนเต็มวงเงิน แต่ถ้าการใช้เหล่านั้นสมเหตุสมผลไม่ใช่สมใจ รวมถึงคุณสามารถชำระจำนวนนั้นได้อย่างมีการวางแผนที่ดี ทำให้ไม่เดือดร้อนตัวเองหรือคนรอบข้าง เพียงแค่นี้คุณก็จะรู้จักคำว่า "พอเพียง" แล้วละครับ 

 

 "...Self - Sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตัวเอง...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดคิด-อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข..."


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐