Dozing off dangerously
- 29 ตุลาคม 2561
- 4,675
เคยไหมที่เวลาขับรถยนต์คนเดียวนาน ๆ ระหว่างจังหวัดแล้วเผลอหลับ อย่างที่เรียกว่าหลับใน เชื่อไหมว่าแค่วูบเดียวทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
บางคนโชคดีรอดตายหงุดหวิด อยากทราบไหมว่า วินาทีผ่านเส้นตายเป็นอย่างไร ว่าไปแล้วภาวะหลับในไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะไลฟ์สไตล์คนเมืองมิอาจหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยการขับรถยนต์ ทำไมไม่หาทางป้องกัน แก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป
อาการหลับในมีสาเหตุจากสมองภายในเผลอหลับไประยะหนึ่ง โดยที่คนรอบตัวสังเกตจากภายนอกไม่ได้เลย อาการที่ว่าบังเอิญเกิดตอนขณะขับรถยนต์ จะเสี่ยงอันตราย อาจพิการ หรือตาย
อยากทราบ ความรู้สึกก่อนที่จะมีอาการ
เริ่มขับไปได้สักระยะ อาจเพราะทางเรียบ แอร์เย็น เครื่องยนต์รุ่นใหม่เอี่ยมนิ่งเหมือนนั่งอยู่บนโซฟาที่บ้าน แต่บางคนรถเก่าอาจมีอาการเช่นกัน รู้สึกว่าหาวนอนบ่อย และรู้สึกหนังตาหย่อน ลืมตาไม่ขึ้น ผู้ขับเริ่มควบคุมพวงมาลัยไม่ได้ จากนั้นไม่มีสติใจเริ่มลอย ไม่มีสมาธิเพราะรู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด
กรณีอาการที่ว่ายังคงอยู่ผู้ขับจะไม่มีความรู้สึกเข้าสู่อาการหลับใน คนที่ขับรถเก่ง เคยขับมานานจะทราบแล้วว่าควรจอดหาที่นอนสักงีบแล้วค่อยไปต่อ ส่วนใหญ่เวลามีอาการคนที่ประมาทอยากจะไปที่จุดหมาย บางคนเริ่มเร่งความเร็วแต่ขับรถส่ายไปมา ออกนอกเลน เบี่ยงไปทางขวา บางคนโชคดีที่รถสวนทางมาบีบแตรใส่จับพวงมาลัยหลบทัน บางคนโชคร้าย คงไม่ต้องบรรยาย
แล้วจะแก้ไขอย่างไรดี
อาการหลับในเป็นภาวะขณะหนึ่งที่สมองขาดสติเผลอหลับไปแบบไม่ทันรู้สึกตัว ควรแก้ไขเบื้องต้นโดยชะลอความเร็วรถ กะพริบไฟฉุกเฉินก่อนการจอดรถทันที อย่าขับต่อ ดื่มน้ำเย็น น้ำเปล่าเท่าที่หาได้จะทำให้ร่างกายสดชื่น
หายใจเข้าปอดลึก ๆ สมองจะได้รับออกซิเจนเต็มที่อาการง่วงนอนจะหายไป กรณีไม่เร่งด่วนเดินทางอาจหาที่ปลอดภัย เปิดกระจก ปิดแอร์ นอนพักสักงีบแล้วค่อยไปต่อ
ทำไมไม่คิดป้องกัน
ภาวะหลับในป้องกันได้ง่ายมาก ก่อนที่จะขับทุกครั้งควรนอนให้พอ การนอนให้พอคือต้องนอนติดต่อกันนาน 7-8 ชั่วโมงต่อวันนอนเวลาเดิมสม่ำเสมอ โดยพยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุก วัน เป็นกิจวัตรจะทำให้เคยชินกับการนอนหลับเป็นปกติ กรณีการขับรถทางไกล ควรพักผ่อนให้เพียงพอติดต่อกัน 2-3 คืนขึ้นไปก่อนออกเดินทาง
มีเพื่อนเดินทาง จะดีมากเมื่อการเดินทางไกลมีคนที่ขับรถเก่ง ๆ เดินทางไปพร้อมกันหลายคนเพราะการสลับกันขับจะไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป
เตรียมน้ำ กาแฟกระป๋องติดรถไว้ ปรับเบาะพิงตรงตั้งฉากกับที่นั่ง ตั้งสติก่อนสตาร์ท ขณะขับอย่าพิงเบาะ หายใจยาว ๆ เพราะสมองจะรับออกซิเจนได้เต็มที่เป็นการป้องกันอาการง่วงนอน
สังเกตวิวข้างทางเป็นการกระตุ้นความรู้สึกตื่นตัว พร้อมบอกกับตัวเองในใจว่าผ่านอะไรไปบ้างแล้วเป็นการสร้างสมาธิไปในตัวเองเพราะ จะทราบว่าตนเองคิดอะไรอยู่ ไม่เผลอหลับ เมื่อเริ่มหาวบ่อย ไม่ทราบว่าสักครู่ตนเองผ่านอะไรไปบ้าง บอกไม่ได้ว่าสักครู่ที่ผ่านมาคิดอะไรบ้าง
ความคิดไม่ต่อเนื่อง ควรรีบแก้ตามวิธีข้างต้น ภาวะอาการหลับในไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะอันตรายอาจพิการ และเสียชีวิตได้ การพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ประมาทมีสติ และสมาธิ การเข้านอนในเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ข่าวอุบัติเหตุตามสื่อจะลดลง
เอกสารอ้างอิง
- การหลับและความผิดปกติการหลับ,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ สงขลา มหาวิทยาลัย,2536
- ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ : นพ.จักริน ลบล้ำเลิศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทวิทยา โรคลมชักและการนอนหลับผิดปกติ