DIOR #F20

• Fall 2020

BY KV

  • 09 พฤศจิกายน 2563
  • 7,162

ความอ่อนเยาว์ ความมีชีวิตชีวา จิตวิญญาณของสิ่งใหม่ ๆ นี่คือหลักการพื้นฐานของ ‘The New Look’ ที่คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ออกแบบในปี 1947 ซึ่งถือเป็นมุมมองที่ไม่เหมือนใครที่เขามีต่อแฟชั่นและโลกในช่วงการฟื้นฟูศิลปวิทยาการหลังสงคราม

 

กูตูริเยร์ผู้นี้ได้แสดงให้โลกเห็นว่าเขาพร้อมที่จะก้าวข้ามพรมแดนและสำรวจโลกใหม่ซึ่งรวมถึงทวีปอเมริกา เรื่องราวและปรัชญาที่แสดงถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้คิม โจนส์ (Kim Jones) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์สำหรับเครื่องแต่งกายชายของดิออร์ในการต่อยอดบทสนทนานี้ในการนำเสนอแฟชั่นโชว์ประจำฤดูใบไม้ร่วง 2020 ของเขาในไมอามี รัฐฟลอริดา

 

Photo: Courtesy of DIOR

 

งานปัก เลื่อม วัสดุ และองค์ความรู้ในการตัดเย็บ การสดุดีผลงานโอตกูตูร์และเอกลักษณ์อันล้ำค่าที่สืบทอดกันต่อมาของแบรนด์ดิออร์ ผสมผสานกับองค์ประกอบไซเคเดลิก จนเกิดเป็นสุนทรียะที่มีที่มาจากอิทธิพลอันหลากหลาย แจ็คเก็ตที่ดูพลิ้วไหวทำจากทรอปิคัลวูลมาพร้อมกับกระดุมเย็บมือ ดูคล้ายกับ Bar suit ดั้งเดิมซึ่งถือเป็นผลงานไอคอนแห่ง ‘The New Look’ พร้อมกันนี้ ยังมีการเผยโฉมกระเป๋า Saddle ในเวอร์ชั่นโลหะทำขึ้นในจำนวนจำกัดในโชว์นี้อีกด้วย

 

Photo: Courtesy of DIOR

 

 

หมวกเบอเรต์แบบฝรั่งเศสและหมวกบ๊อบในสไตล์ที่สวมใส่โดยกะลาสี ออกแบบโดยสตีเฟน โจนส์ (Stephen Jones) ซึ่งเป็นช่างทำหมวกของดิออร์ ได้รับการตกแต่งด้วยกิ่งดอกไม้อลังการ ลายดอก ลายพิมพ์หนังงู ลายตาราง และลายทางปรากฏอยู่ทั่วทั้งคอลเลคชั่น กลายมาเป็นความกลมกลืนอย่างไม่คาดฝันและผสมผสานรวมอยู่กับลาย Oblique อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของดิออร์ โครงร่างผสมผสานกันทั้งฝั่งอเมริกาและฝรั่งเศส บนพื้นที่ที่พร้อมรองรับแรงบันดาลใจและการปะทะกันของวัฒนธรรมต่าง ๆ

 

Photo: Courtesy of DIOR

 

สีสดและเข้มข้น อาทิ แดงฮิบิสคัส น้ำเงินแปซิฟิก เหลืองแซฟฟรอน และเฉดสีพาสเทล สะท้อนถึงสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโคของชายหาดไมอามี เฉดสีดังกล่าวยังสื่อถึงชุดราตรียาวแบบบอลล์กาวน์ของคริสเตียน ดิออร์ และเป็นจุดเด่นของคอลเลคชั่น ด้วยการผสมผสานลาย Tutti-Frutti เข้ากับผ้า Dior Oblique บนเครื่องประดับใหม่ โดยผลลัพธ์ที่ได้คือจิตวิญญาณที่สนุกสนานและผ่อนคลาย ซึ่งถือเป็นนิยามใหม่ของความสง่างาม

 

Photo: Courtesy of DIOR

 

แบรนด์ดิออร์มีสายสัมพันธ์ที่ดีเสมอมากับโลกแห่งศิลปะ และความสนใจอันนี้ได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์ดิออร์ในทุกวันนี้มากกว่าที่เคยเป็นมา ในการนี้ โชว์ของคิม โจนส์ จึงถูกจัดขึ้นในค่ำคืนของการเปิดงานเดอะ อาร์ต เบเซิล ไมอามี แฟร์ (The Art Basel Miami Fair) พื้นที่ที่ใช้จัดงานซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑ์รูเบลล์ (The Rubell Museum) เป็นของครอบครัวรูเบลล์เช่นเดียวกัน และเหตุผลที่เลือกใช้สถานทีแห่งนี้ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงอาชีพแรกของเมอร์ซิเออร์ดิออร์ในฐานะเจ้าของแกลอรี ก่อนที่จะกลายมาเป็นที่รู้จักในฐานะกูตูริเยร์

 

Photo: Courtesy of DIOR

 

ความเชื่อมโยงนี้ยังต่อเนื่องมาจนถึงตัวคอลเลคชั่น โดยคิม โจนส์ได้เชื้อเชิญชอห์น สตุสซี (Shawn Stussy)* ศิลปินและดีไซเนอร์ชื่อดัง ให้มาร่วมสร้างสรรค์งาน ณ จุดตัดแห่งศิลปะบนจุดตัดแห่งวัฒนธรรมปรปักษ์และในโลกของกีฬากระดานโต้คลื่นอันสร้างสรรค์ ศิลปินผู้มากด้วยพรสวรรค์ผู้นี้ได้นำโลโก้ดิออร์มาตีความในสไตล์กราฟิติและสร้างสรรค์ลายพิมพ์ใหม่ วิสัยทัศน์ของเขายังปรากฏอยู่บนเครื่องประดับโดยยูน อาห์น (Yoon Ahn) ฉากของแฟชั่นโชว์ซึ่งปรากฏในรูปแบบของศิลปะติดตั้งแบบสามมิติ นำพาผู้ชมเข้าสู่โลกของศิลปินผู้นี้ โดยตัวรันเวย์เองได้ถูกแปลงโฉมให้เป็นอุโมงค์คลื่นแบบแอบสแตรกดูสว่างด้วยแสงของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะตกดิน และปรากฎตัวอักษร “DIOR” ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลองอิสรภาพของการเคลื่อนไหว สร้างสรรค์และจิตวิญญาณ ปรัชญาแบบ Joie de Vivre ที่ดิออร์เชื่อมั่น

 

Photo: Courtesy of DIOR

 

ในฐานะส่วนหนึ่งของแฟชั่นโชว์คอลเลคชั่นเครื่องแต่งกายประจำฤดูใบไม้ร่วง 2020 นี้ แบรนด์ดิออร์และคิม โจนส์ ยังได้ร่วมกับจอร์แดน (Jordan) ซึ่งเป็นแบรนด์บาสเก็ตบอลที่เป็นที่รู้จักกันดี ในการสร้างสรรค์รองเท้าผ้าใบรุ่นพิเศษ Air Jordan I ซึ่งผลิตขึ้นในจำนวนจำกัด นี่ถือเป็นงานคอลลาบอเรชันแรกระหว่างจอร์แดนและแบรนด์โอตกูตูร์จากฝรั่งเศส และเป็นการต่อยอดบทสนทนาทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา

*ชื่อ-สกุลจริงของเขาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทสตุสซี (Stussy Company) หรือแบรนด์สตุสซี (Stüssy Brand)