ของขวัญจากพ่อ
• ถนนในกรุงเทพฯ (และปริมณฑล)
- 21 ตุลาคม 2559
- 80,883
หลากหลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่บางครั้งเราคิดว่าไกลตัวแต่แท้จริงแล้วกลับอยู่ใกล้ตัวพวกเราเหลือเกิน ยกตัวอย่างถนนทั้ง 13 สายและ 1 สะพานลอยในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งยังมีอีกหลายโครงการในหลายจังหวัดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมองกาลไกลและแก้ปัญหาไว้ให้ด้วยความห่วงใย และยิ่งไปกว่านั้นหลายโครงการมาจากทรัพย์ส่วนพระองค์อีกด้วย ดังนั้นหากท่านใช้ถนนสายเหล่านี้ให้คิดไว้เสมอว่าท่านอยู่กับเราตลอดเวลาและใช้ถนนอย่างที่ท่านอยากให้เราใช้ด้วยการมีน้ำใจต่อกัน
1. โครงการ ถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรีเขตบางกอกน้อย
ถนนสายนี้เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งช่วยลดปริมาณการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณสามแยกไฟฉาย และเป็นเส้นทางลัดเชื่อมต่อไปยังย่านสำคัญ ได้แก่สถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช และตลาดพรานนก
เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536 ใช้งบประมาณดำเนินการ 16.5 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณกรุงเทพมหานคร ทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคเพิ่มเติม เปิดการจราจรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามถนนสายนี้ตามชื่อวัดในบริเวณดังกล่าวว่า “ถนนสุทธาวาส”
2. โครงการ ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี
ลักษณะโครงการเป็นสะพานยกระดับ สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการจราจร จากบริเวณสะพานปิ่นเกล้าจนถึงทางแยกตลิ่งชันถนนบรมราชชนนีทั้งขาเข้าและขาออก และเพื่อแยกการจราจรของยวดยานที่ต้องการเดินทางระยะไกลออกจากยวดยานที่เดินทางในระยะใกล้ ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จนถึงทางแยกตลิ่งชันบนถนนบรมราชชนนี เริ่มที่เกาะกลางจากแยกอรุณอมรินทร์ถึงพุทธมณฑลสาย 2 โดยขาออกจะขึ้นที่แยกอรุณอมรินทร์ ลงได้ 3 จุดที่ตลิ่งชันหน้าหมูบ้านกฤษดานคร และใกล้วงแหวนฉิมพลี ไม่มีทางขึ้นระหว่างทาง ส่วนขาเข้าขึ้นที่ต้นทางก่อนถึงพุทธมณฑลสาย 2 ขึ้นได้ที่หน้าหมู่บ้านกฤษดานครและตลิ่งชัน และจะไม่มีทางลงระหว่างทาง โดยแบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างโครงการฯ เป็น 2 ส่วน คือ
1. โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ตอนปิ่นเกล้าทางแยกต่างระดับสิรินธร เริ่มดำเนินการตั้งแต่บริเวณทางแยกอรุณอมรินทร์ ถึงทางแยกต่างระดับสิรินธร ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 4,515 กิโลเมตรมอบให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบดำเนินงาน
2. โครงการต่อเนื่องจากทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ตอนทางแยกต่างระดับสิรินธร – ทางแยกต่างระดับฉิมพลี เริ่มดำเนินการต่อเชื่อมกับโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนีของกรุงเทพมหานคร บริเวณทางแยกต่างระดับสิรินธร และสิ้นสุดโครงการบริเวณเลยจุดข้ามทางแยกพุทธมณฑลสาย 2 ไปประมาณ 500 เมตร ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 9.363 กิโลเมตร
image by Patra Kongsirimongkolchai
3. โครงการ ก่อสร้างถนนคู่ขนานถนนพระราม ๙ จากแยกเข้าวัดอุทัยธารามถึงก่อนขึ้นทางด่วนขั้นที่ 2
4. โครงการ ก่อสร้างสะพานจตุรทิศตะวันออก
โครงข่ายที่สำคัญและเป็นโครงข่ายใหญ่มีการก่อสร้างถนนและสะพานเชื่อมโครงการย่อๆ ปลายโครงการเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด รวมไปถึงถนนเชื่อมต่อสายอื่นได้แก่ ถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนอโศก-ดินแดง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี และถนนพระราม 9 แบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ
1. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ก. บริเวณถนนศรีอยุธยา ไปยังถนนาชดำเนินนอกจนถึงถนนสวรรคโลก
2. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ข. จากถนนศรีอยุธยาถึงถนนอโศก-ดินแดง
3. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ค. จากบริเวณบึงมักกะสันถึงถนนเลียบคลองบางกะปิ
4. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ง. จากถนนเลียบคลองบางกะปิถึงถนนพระราม 9
5. โครงการ สะพานพระราม 8
หนึ่งในโครงการจตุรทิศ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เมื่อปี 2538 ณ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการสะพานพระราม 8” เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8”
image by การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
6. โครงการ ก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อให้การจราจรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กับบริเวณ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในการก่อสร้างกรุงเทพมหานครได้คำนึงถึงความกลมกลืนเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของสะพานมัฆวานรังสรรค์ และความสวยงาม โดยก่อสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานเดิมจำนวน 2 สะพาน ไม่ต้องย้ายน้ำพุ และให้มีระดับความสูงน้อยกว่าสะพานมัฆวานรังสรรค์
7. โครงการ ก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 กับถนนเทียมร่วมมิตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 กับถนนเทียมร่วมมิตร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณถนนรัชดาภิเษก และถนนพระราม 9 โดยสร้างถนนเพื่อเป็นทางลัดในพื้นที่ซึ่งเดิมเคยรกร้างว่างเปล่า ด้านข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยข้างกรมการผังเมืองบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
8. โครงการ ก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนรัชดาภิเษกบริเวณหน้าศาลอาญา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 3 ล้านบาท แก่กรุงเทพมหานคร โดยมีพลเอก เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ เป็นผู้แทนพระองค์มามอบให้แก่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536 เพื่อทำการก่อสร้างสะพานให้ประชาชนทั่วไปและข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ศาลอาญา กรมส่งเสริมการส่งออก และหน่วยงานอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงใช้ข้ามถนนอย่างปลอดภัย
9. โครงการ ขยายผิวจราจรสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า ...สะพานแห่งนี้คือมรดกที่มีคุณค่าทางศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ของชาวไทย ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็น "โบราณสถานของชาติ" กรุงเทพมหานครจึงต้องพิจารณาวิธีการในการแก้ไขปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ ได้ทรงกำชับให้ระมัดระวังในเรื่องการอนุรักษ์รูปแบบประติมากรรมให้เหมือนเดิมด้วยมิใช่มุ่งแต่ขยายผิวการจราจรเพียงอย่างเดียว
10. โครงการ ก่อสร้างปรับปรุงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
ถนนหยดน้ำ ประหนึ่งน้ำพระราชหฤทัย เกิดจากสาเหตุที่เกิดการคับคั่งของการจราจรบริเวณถนนราชดำเนิน กลาง ซึ่งเกิดจากรถมีจำนวนมากและต้องมาหยุดรอไฟสัญญาณจราจรที่มี 4 จุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ ให้ยกเลิกสัญญาณจราจรและจัดระเบียบการจราจรใหม่ และโปรดเกล้าพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ขยายการปรับปรุง พื้นที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์เดิม ให้กลายเป็นพื้นผิวการจราจรช่วงทางลงจากสะพานพระปิ่นเกล้า 4 ช่องจราจรและ 1 ช่องซ้ายสุด สร้างให้เป็นทางวนกลับรถเข้าสู่ถนนเจ้าฟ้ารอดใต้เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าออกสู่สนามหลวงได้ทันที และหากมองจาก มุมสูงจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำ
11. โครงการ ก่อสร้างถนนชุมชนบึงพระราม 9 เชื่อมระหว่างถนนพระราม 9 ถนนประชาอุทิศ
พระราชทานพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างถนนและปรับปรุงชุมชนพระราม 9 (หน้าศูนย์แพทย์พัฒนา) เพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างถนนพระราม 9 กับถนนประชาอุทิศตามแนวซอยโรงเรียนไทย-ญี่ปุ่น กับซอยจำเนียรเสริม
12. โครงการ ถนนรัชดาภิเษกทางแยกต่างระดับบนถนนรัชดาภิเษก-วิภาวดีรังสิตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ในขณะนั้นปัญหาการจราจรในกรุงเทพ มหานครยังไม่วิกฤตได้มีพระราชดำริ ให้สร้างโครงข่ายวงแหวนเตรียมไว้ ถนนรัชดาภิเษกมีความยาวทั้งสิ้น 45 กิโลเมตร ประกอบด้วยถนนสายเดิมที่มีอยู่หลายสายและถนนที่สร้างขึ้นมาใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการประสานและทำงานอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานที่รับสนองพระบรมราชโองการด้านการแก้ไขปัญหาจราจรหลายหน่วยงาน เช่น กรมทางหลวง กรมโยธาธิการ และกรุงเทพมหานคร ได้ก่อสร้างและเชื่อมต่อเส้นทางทีละส่วนจนครบวงรอบ และเสร็จสมบูรณ์วันที่ 12 สิงหาคม 2536
image by Puniest Rojanapo
13. โครงการ ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก (ถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้) จังหวัดสมุทรปราการ
"...อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวนเพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว..."
พระราชดำรัสเนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษก ครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔
ถนนกาญจนาภิเษกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีปริมาณการจราจรและการขนส่งเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นทางเลี่ยงเมืองกรุงเทพมหานครที่เป็นตัวเชื่อมทางสายหลักเข้าไปสู่ทุกภาคของประเทศ เดิมมักเรียกกันว่า ถนนวงแหวนรอบนอก (ตะวันตก) มีระยะทางเริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ 2 ตัดผ่านฝั่งธนบุรี เข้าสู่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี ไปสิ้นสุดที่ถนนพหลโยธิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญชื่อ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีในปี พ.ศ. 2539 มาเป็นชื่อเรียกถนนสายนี้ (และกรมทางหลวงได้เปลี่ยนหมายเลขทางหลวงของถนนสายนี้ จากทางหลวงหมายเลข 37 เป็นทางหลวงพิเศษหมายเลข "9")
14. โครงการ ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรปราการ
เป็นวงแหวนรอบเล็กตามแนวพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางไว้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนส่งและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพ ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เพื่อไม่ให้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าไปในตัวเมืองหรือทิศทางอื่น อันเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดโดยรอบ
image by Olympus Global Open Photo Contest 2015
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)