DIOR • Winter 2023
- 20 ตุลาคม 2566
- 4,509
“วงจรธุรกิจห้องเสื้อ หรือ fashion house นั้น ประกอบไปด้วยการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ควบคู่ไปกับการรังสรรค์ผลงานต้นแบบให้มีความสดใหม่เข้ากระแสความนิยมของยุคสมัย และนั่นก็เป็นกลไกเดียวกันที่ขับเคลื่อนวิวัฒนาการของศิลปะนิยมทางการแต่งกายหรือที่เรารู้จักกันดีนำว่า ‘แฟชั่น’ ดังจะเห็นได้ตลอดเวลาว่าจะมีบางสิ่งจากอดีตมาปรากฏอยู่ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งที่ Dior เองก็เป็นเช่นนั้น ในคอลเลคชั่นนี้ เราต้องการมองย้อนกลับไปยังกระบวนการสร้างสรรค์ ซึ่งสืบสานความต่อเนื่องหลังมรณกรรมของมร.ดิออร์ และการรื้อฟื้นผลงานต้นแบบมารังสรรค์ใหม่ด้วยฝีมือของมร.แซงต์ โลรองต์ ทายาทที่คริสเตียน ดิออร์เลือกเองมากับมือ พร้อมกับอาศัยจินตนาการ และแนวคิดวรรณกรรมชิ้นเอก The Waste Land (“แผ่นดินที่สิ้นสูญ” กวีนิพนธ์ผลงานประพันธ์โดยที.เอส. อีเลียต มหากวีแห่งศตวรรษที่ 20 ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1922) และนี่คือจุดบรรจบระหว่างโลกใบเก่ากับโลกใบใหม่ ที่มีทั้งการไหลบ่า และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม” คิม โจนส์
เธมส์กับเซนส์ ต่างเป็นแม่น้ำสายประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยเรื่องราวทางการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมานับแต่บรรพกาล ร่องรอยเล่าขานถึงการสร้างสรรค์ และรังสรรค์บนกระแสธารรที่ไหลรินจากชนบทสู่มหานครจนออกท้องทะเลนั้น ปรากฏทั้งสิ่งที่แตกต่าง และคล้ายคลึงกันอยู่ตลอดเวลา สายน้ำอันถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงอารยธรรมของกรุงลอนดอน และมหานครปารีสทั้งสองนี้ มีทั้งสิ่งที่เหมือนกัน และขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง อย่างง่ายที่สุดเท่าที่สายตาเรามองเห็นนั่นก็คือ บางช่วงของน้ำสายช่างกระจ่างใส ในขณะที่บางช่วงกลับขุ่นมัว หรือดำมืด ความหมายแฝงแห่งสองสายธารนี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้งานประพันธ์ของที.เอส. อีเลียต และงานออกแบบของคิม โจนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ประจำแผนก Dior Men
ไม่ต่างอะไรจากวิถีคู่ขนานระหว่างชีวิตปัจจุบันกับประวัติศาสตร์วรรณกรรม การอยู่ร่วมกันระหว่างทัศนียภาพโบราณสถานอันกว้างไกล กับทิวทัศน์มหานครทันสมัย เรื่องราวต่างยุค ต่างเวลา ถูกนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน กระแสธารของสองลำน้ำจากสองมหานครสำคัญของโลกที่ไหลวนเวียนอย่างต่อเนื่องราวกับสะท้อนถึงสิ่งต่างๆ อันบังเกิดขึ้นในโลกศิลปะนิยมของการแต่งกาย อันรวมถึงคอลเลคชั่นประจำฤดูหนาว ซึ่งเต็มไปด้วยการวนเวียนเปลี่ยนผันจากเก่าสู่ใหม่ ให้ความสบายยามสวมใส่ เคลื่อนไหวได้คล่องตัว โดยอาศัยเส้นโครงสร้างมิติทรงที่ต่อเนื่อง พลิ้วไหวเป็นพื้นฐานสำคัญทางการออกแบบ อีกทั้งยังสะท้อนถึงแนวคิดพลวัตนิยมของมร.อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ผู้ก้าวเข้ามารั้งตำแหน่งนักออกแบบแทนมร.ดิออร์ด้วยวัยเพียง 21 ปีจนได้รับการยกย่องให้เป็นนักออกแบบแฟชั่นชั้นสูงผู้มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์
เมื่อ 65 ปีก่อน ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1958 อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ได้นำเสนอผลงานเสื้อผ้าชั้นสูงคอลเลคชั่นแรกที่เขาออกแบบให้แก่ห้องเสื้อ Dior เท่านั้น โลกแฟชั่นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นอีกครั้ง และคอลเลคชั่นประจำฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน 1958 นั้นเอง ที่กลายเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจสำคัญให้กับงานสรรค์สร้างคอลเลคชั่นประจำฤดูหนาวของคิม โจนส์ในรูปแบบเครื่องแต่งกายชายที่หยิบยกมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ Dior มาใช้ นั่นก็คือการนำวัสดุสิ่งทอสำหรับตัดเย็บเครื่องแต่งกายสตรีมารังสรรค์เป็นเสื้อผ้าบุรุษ รวมถึงการนำวัสดุ และแบบแผนการตัดเย็บสูทอังกฤษมาหลอมรวมกับศิลปะการตัดเย็บของห้องเสื้อชั้นสูงฝรั่งเศส
ไม่ต่างอะไรจากการไหลบ่าทางวัฒนธรรม อันนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยน และผสมผสาน ผลงานหลอมรวมโครงสร้างที่อำนวยต่อการเคลื่อนไหวเข้ากับความทันสมัยในงานออกแบบ อันคำนึงถึงความสะดวกง่ายดายทางการสวมใส่ และใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน ปรากฏเป็นความหลากหลายของตัวเลือกจากเรียบง่ายไปจนถึงซับซ้อน จากเครื่องแต่งกายพิธีการไปจนถึงเสื้อผ้าสไตล์ลำลอง อีกทั้งยังบ่งบอกถึงบุคลิกเฉพาะตัวของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่มิติทรงดูอ่อนโยนด้วยการใช้เส้นโค้งกับสัณฐานกลมกลึง คำนึงถึงการทิ้งตัวพลิ้วไหวไร้น้ำหนัก กระนั้นกลับดูเป็นงานลูกผสม เอื้อต่อการพลิกแพลง หรือดัดแปลงวิธีสวมใส่ ไม่ว่าจะใช้สวมแบบปรกติตามมาตรฐานสากล หรือใช้ลูกเล่นเฉพาะตัวให้เป็นไปตามมุมมองผู้เป็นเจ้าของ เหนืออื่นใดก็คือ ความเป็นธรรมชาติ ซึ่งอาศัยความประณีต พิถีพิถันด้านการตัดเย็บ เพื่อให้คอลเลคชั่นที่ดูซับซ้อนย้อนแย้งปราศจากรายละเอียดย้อนแย้งแห่งความซับซ้อน
ในหลายครั้ง กับหลายยุคหลายสมัยที่เสื้อผ้ามากมายถูกหยิบยกออกาจากผลงานรุ่นต้นแบบในแผนกจัดเก็บผลงานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยตรง เพื่อทำการรังสรรค์ และดัดแปลงเติมความสดใหม่ อย่างเสื้อกลาสี Marine (มารีน) ของมร.แซงต์ โลรองต์ ได้ถูกปรับทรงที่เคยกระชับ เข้ารูป ให้คลายตัวหลวมด้วยการใช้ผ้าทอลายสองสำหรับตัดเย็บเครื่องแบบทหารม้า (cavalry twill) อีกทั้งยังยืนความยาว ให้ดูสะโอดสะองตามมิติทรงชุดสวมกันเปื้อนของชาวประมง ในขณะที่โครงสร้างการตัดเย็บชุดเปิดไหล่เข้ารูปของผลงานต้นแบบนาม Acacias (อากาเซีย: ดอกกระถิน) ได้รับการลดตำแหน่งไหล่แขนให้ลู่ต่ำ อีกทั้งยังตัดเย็บด้วยผ้าวูล หรือผ้าทอใยขนสัตว์สำหรับชุดสูทผู้ชาย จนทำให้มิติทรงดูใหม่ และแปลกตา ส่วนเสื้อโคท Passe Partout (ปาส ปารตูต์: กุญแจผี หรือกุญแจหลัก เป็นคำเปรียบเปรยถึงคุณสมบัติในการดัดแปลงได้หลายรูปแบบ) ซึ่งแต่งปกเสื้อเป็นแถบผ้าพันคอสำหรับใช้พับทบ หรือผูกโบว์หลวม ได้เผยโฉมใหม่โดยอาศัยผ้าทวีดดาเนอกัล (Donegal tweed) เนื้อหยาบมาตัดเย็บ พร้อมเติมลูกเล่นแขนเสื้อติดซิปรูปเปิด/ปิดตลอดความยาว
แนวคิดดั้งเดิมของผ้านิตเนื้อยืด มอบความสะดวกง่ายดายในการสวมใส่ได้หลายโอกาส อีกทั้งมอบความคล่องตัวได้รูปทรงปราศจากโครงสร้าง กลับถูกหักล้างด้วยการนำลูกเล่นเหลี่ยมมุมเชิงสถาปัตย์มาใช้ร่วมกับการตัดเย็บเข้ารูปแบบชุดสูท และเพื่อเติมความครบครัน งานออกแบบใหม่สะกดสายตาของรองเท้า และรองเท้าหุ้มข้อหรือบูทพิมพ์ลาย 3 มิติกับเสื้อนอก ซึ่งดัดแปลงแบบมาจากแจ็กเก็ตเก็บอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ของนักเดินทะเล ล้วนเป็นบทพิสูจน์ไหวพริบในการพลิกแพลงทักษะความชำนาญด้านการตัดเย็บของ House of Dior ให้ได้ผลลัพธ์ร่วมสมัยอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ขณะเดียวกัน บรรดากระเป๋า ก็อาศัยความสง่างามจากงานออกแบบที่เรียบง่าย ร่วมกับความพิถีพิถันทางการสรรค์สร้างเป็นพื้นฐานสำคัญ พร้อมกับตัดทอนรายละเอียด หรือองค์ประกอบตกแต่งประดับประดาเพื่อเผยโครงสร้างทรงกล่องจาก Vernis (แวรนีส์: น้ำมันชักเงา หรือสีเคลือบเงา) ผลงานต้นแบบที่มร. แซงต์ โลรองต์ออกแบบขึ้นโดยใช้ความเรียบง่ายสื่อถึงกระแสนิยมยุคใหม่ในสมัยนั้น