Audemars Piguet • From Le Brassus to Bangkok

BY Duty editor

  • 15 มิถุนายน 2561
  • 10,346

เปิดตัวนิทรรศการ “From Le Brassus to Bangkok” ครั้งแรกของการจัดแสดงประวัติศาสตร์เรือนเวลาครั้งยิ่งใหญ่ของโอเดอมาร์ ปิเกต์ ส่งตรงจากเลอ บราซู สู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิทรรศการที่บอกเล่าการเดินทางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์กว่า 143 ปี และจิตวิญญาณอันทุ่มเทต่อศาสตร์การประดิษฐ์เรือนเวลาชั้นสูงในแต่ละยุคสมัย ร่วมด้วยโชว์เคสผลงานชิ้นพิเศษที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างทรงพลัง รังสรรค์ขึ้นโดย อริญชย์ รุ่งแจ้งศิลปินร่วมสมัยเชื้อสายไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับเกียรติร่วมงานกับโอเดอมาร์ ปิเกต์ พร้อมเปิดตัว เจ-เจตริน วรรธนะสิน ในฐานะ ‘Friend Of The Brand’ คนไทยคนแรกอย่างเป็นทางการ

 

 

จัดแสดงเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนต้นกำเนิดของศาสตร์แห่งการผลิตนาฬิกาชั้นสูง (Origins) อย่าง วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ (Vallée de Joux) ที่เสมือนพาคุณย้อนเวลาสู่จุดเริ่มต้นของแบรนด์โอเดอมาร์ ปิเกต์ โซนวิวัฒนาการเรือนเวลา (Designing Time) ที่หยิบเอานวัตกรรมชั้นเลิศมาหลอมรวมกับประเพณีการรังสรรค์เรือนเวลายุคก่อนได้อย่างน่าสนใจ ร่วมด้วยสุดยอดเรือนเวลารุ่นประวัติศาสตร์กว่า 50 เรือน ที่แต่ละชิ้นถูกเก็บรักษาและคัดเลือกอย่างพิถีพิถันโดย มร.เซบาสเตียน วิวาส ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งโอเดอมาร์ ปิเกต์

 

 

อาทิ นาฬิกาพก Triple Complication รุ่นบุกเบิกปี 1880, นาฬิกาอาร์ต   เดโค ที่มาพร้อมระบบแสดงเวลาแบบ Jumping hours จากปี 1930, นาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค ออฟชอร์ รุ่นบุกเบิก ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1993, รวมไปถึงนาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค RD#2 ประดิษฐกรรมเวลาชิ้นเอกแห่งปี 2018 ขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ ที่บางที่สุดในโลก

 

อีกหนึ่งไฮไลท์ห้ามพลาดคือการสาธิตหลากทักษะอันเชี่ยวชาญโดยช่างฝีมือชั้นสูง (Traditional Savoir-Faire) กับเบื้องหลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเรือนเวลาที่หาชมได้ยาก ทั้งยังสะท้อนถึงปรัชญาหลักของแบรนด์ “To Break the Rules, You Must First Master Them” ได้เป็นอย่างดี

 

 


 

DESIGNING TIME

บนเส้นทางประวัติศาสตร์กว่า 143 ปี โอเดอมาร์ ปิเกต์ไม่เคยหยุดนิ่งและพร้อมฉีกกรอบการออกแบบเรือนเวลาอยู่เสมอ โดยแต่ละเรือนได้สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยที่ต่างกันออกไป ซึ่งในบางครั้งยังมีการคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการการออกแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นผลงานการสร้างสรรค์ในยุควิกตอเรียอย่าง นาฬิกาพกที่แต่งแต้มด้วยหัตถ์ศิลป์อันวิจิตรและนาฬิกาพกที่ผสานฟังก์ชั่นการใช้งาน ไปจนถึงนาฬิกาสไตล์อาร์ต นูโวที่มีดีไซน์และสีสันแปลกตา อย่าง Art Nouveau Brooch watch ในปี 1900 โดดเด่นที่ตัวเรือนทองซึ่งมีการแกะสลักอย่างสวยงามพร้อมฝาหลังฉลุเพื่อเผยให้เห็นลายกิโยเช่โปร่งแสงสีแดง

 

นาฬิกาอาร์ต เดโคที่เปี่ยมด้วยความละเอียดอ่อนชั้นสูง หรือแม้แต่เรือนเวลาที่สื่อถึงความไม่ย่อท้อหลังเผชิญสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุค 1930s, นาฬิกาโครโนกราฟในยุค 1940s ต่อด้วยจุดเริ่มต้นของนาฬิกาข้อมือที่มาพร้อมฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ในยุค 1950s, นาฬิกาข้อมือที่น่าตื่นเต้นเร้าใจของยุค 1960s อย่าง Asymmetrical watch ปี 1962 ที่แบรนด์ค้นคว้าวิจัยด้านสุนทรียศาสตร์ โดยเน้นการปรับแต่งรูปทรงของขาตัวเรือน

 

 

หน้าปัดโอเพ่นเวิร์คที่เผยให้เห็นกลไกการทำงาน และตัวเรือนแบบอสมมาตร หรือจะเป็นเรือนเวลาที่ปฏิวัติการออกแบบในยุค 1970s ที่ชนะรางวัล Golden Rose of Baden-Baden อันทรงเกียรติในปี 1971 อย่าง Haute Couture Bracelet watch นาฬิกากำไลข้อมือชั้นสูงที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตัวเรือนไวท์ โกลด์ 18 กะรัต ประดับโกเมนกรอสซูลาไรต์สีเขียวและเพชร รวมถึงประดิษฐกรรมเวลาอีกมากมายที่ถูกสร้างขึ้นหลังช่วงวิกฤตการณ์ควอตซ์มาจนถึงปัจจุบัน

 


 

ORIGINS 

หุบเขาวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ สถานที่ต้นกำเนิดของโอเดอมาร์ ปิเกต์ และถิ่นกำเนิดของจักรกลเวลาที่สลับซับซ้อนชั้นนำของโลก ดินแดนอันงดงามซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาจูราบริเวณตอนเหนือของนครเจนีวา และด้วยเหตุที่หุบเขาแห่งนี้ถูกปกคลุมด้วยหิมะนานเกินกว่าสี่เดือนต่อปี ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะผืนป่า แหล่งน้ำ น้ำแข็งและหินที่มีแร่เหล็กเป็นองค์ประกอบ จึงเกื้อหนุนต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนาฬิกาได้เป็นอย่างดี

 

 

โอเดอมาร์ ปิเกต์ ยังคงดำเนินธุรกิจสืบทอดกันในครอบครัวผู้ก่อตั้งมาจวบจนปัจจุบัน และไม่เคยหยุด  การผลิตนาฬิกาแม้จะอยู่ในภาวะความกดดันจากสงคราม เศรษฐกิจที่ตกต่ำ รวมไปถึงความผันผวนครั้งใหญ่ภายในอุตสาหกรรมนาฬิกาเอง จิตวิญญาณแห่งนวัตกรรมและความเป็นอิสระ ตลอดจนความเคารพอย่างสูงส่งต่อประเพณีดั้งเดิม เป็นแรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังความมุ่งมั่นทีไม่หยุดนิ่งและความเอาใจใส่อันสื่อถึงตัวแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

 


 

ROYAL OAK 

รอยัล โอ๊ค เปิดตัวครั้งแรกในปี 1972 ในฐานะเรือนเวลาสปอร์ตสุดหรูรุ่นแรกของโลกที่ทำจากสเตนเลส สตีล ออกแบบโดยปรมาจารย์แห่งวงการนักออกแบบนาฬิกาอย่าง เฌรัลด์ ฌองตา (Gérald Genta) โดยตลอด 46 ปีที่ผ่านมา นาฬิการุ่น รอยัล โอ๊ค , รอยัล โอ๊ค  ออฟชอร์ และ รอยัล โอ๊ค  คอนเซ็ปต์ ได้รับการตีความผ่านต้นแบบที่แตกต่างกันหลายร้อยแบบ ครอบคลุมนาฬิกาทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาสปอร์ต นาฬิกาคลาสสิค นาฬิกากลไกสลับซับซ้อน และนาฬิกาผู้หญิง

 

รอยัล โอ๊คที่ผลิตเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างโอเดอมาร์ ปิเกต์และประเทศไทยเริ่มต้นมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปในปี 1950 เมื่อนาฬิกาข้อมือที่มาพร้อมฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ ซีรีย์แรกอย่างโมเดล 5516 ซึ่งผลิตเพียง 12 เรือน จนกลายเป็นตำนานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้ถูกจำหน่ายให้กับลูกค้าชาวไทย และสำหรับนิทรรศการครั้งนี้  โอเดอมาร์ ปิเกต์ได้นำเรือนเวลาสองรุ่นพิเศษที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อประเทศไทยโดยเฉพาะมาจัดแสดง

 

 

รอยัล โอ๊ค คิง ออฟ ไทยแลนด์ “80th Birthday” ปี 2008 เรือนเวลาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา รังสรรค์บนตัวเรือนสเตนเลส สตีลและพิ้งค์โกลด์ อย่างละ 50 เรือน โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายได้บริจาคให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา และมีการถวายเรือนเวลาสั่งทำพิเศษตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ที่มีเพียงเรือนเดียวในโลกแด่พระองค์อย่างเป็นทางการอีกด้วย

 

 

ถัดมาคือ รอยัล โอ๊ค  ออฟชอร์ ไพรด์ ออฟ สยาม อีกเรือนเวลาที่สะท้อนถึงเกียรติภูมิของประเทศไทย โดดเด่นที่ฝาหลังสเตนเลส สตีลสลักรูปช้างเผือก สัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่แบรนด์ชื่นชอบ ทั้งยังเคยเป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันโปโลช้างชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย (King’s Cup Elephant Polo) โดยนาฬิการุ่นดังกล่าวที่มีหมายเลขประจำตัวเรือนเป็นเลข “9” ยังถูกประมูลเพื่อนำรายได้ทั้งหมดสมทบทุนเข้ามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ด้วยเช่นกัน

 

 


 

WATCH COMPLICATIONS 

โอเดอมาร์ ปิเกต์ขึ้นชื่อเรื่องความเชี่ยวชาญด้านกลไกอันสลับซับซ้อนมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นที่ระบบปฏิทินถาวร (Perpetual Calendar) ที่ผสมผสานเวลาและดาราศาสตร์ไว้ด้วยกัน โดยแบรนด์ได้เริ่มผลิตนาฬิกาข้อมือระบบปฏิทินถาวรที่แสดงปีอธิกสุรทินตามจันทรคติ (ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา) ชุดแรกของโลกขึ้นในปี 1955, กลไกตีบอกนาที (Minute Repeater) อีกความสำเร็จของการประดิษฐ์นาฬิกาที่ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก

 

 

กับการถอดรหัสเวลาให้อยู่ในรูปของซีรีย์โน้ตดนตรี อาทิ นาฬิกาข้อมือ “Coussin Cubiste” ปี 1932 หนึ่งในเครื่องกลไกตีบอกนาทีที่เล็กที่สุดและบางที่สุดที่แบรนด์เคยผลิตมา ปิดท้ายด้วย ฟังก์ชั่นโครโนกราฟแบบแยกวินาที (Split-second Chronograph) เรือนเวลาที่มีเครื่องจักรกลซับซ้อนและจับเวลาได้อย่างเที่ยงตรงต่อเนื่อง โดยช่วงระหว่างปี 1930 ถึง 1947 แบรนด์ได้ผลิตนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟที่มีระบบจับเวลาไม่ต่ำกว่า 300 เรือน และถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ในกีฬาประเภทแข่งม้าและรถยนต์ 

 


 

THE LAB 

สำหรับนิทรรศการ “From Le Brassus to Bangkok” โอเดอมาร์ ปิเกต์ได้ยกห้องปฏิบัติการล้ำสมัยจากสวิตเซอร์แลนด์มาไว้ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งมอบประสบการณ์เต็มรูปแบบให้กับผู้มาเยือน โดย THE LAB คือพื้นที่ที่หลอมรวมหลากทักษะอันเชี่ยวชาญเพื่ออุทิศให้กับนวัตกรรมด้านเทคนิคโดยเฉพาะ ภายในบริเวณดังกล่าวท่านยังสามารถพบกับผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งโอเดอมาร์ ปิเกต์ ที่มาบอกเล่าพร้อมเผยเบื้องหลังความสำเร็จของนวัตกรรมชั้นเลิศตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงนวัตกรรมใหม่ล่าสุดอย่าง RD#2 กันอย่างใกล้ชิด

 

 

TRADITIONAL SAVOIR-FAIRE พบช่างนาฬิกาผู้ชำนาญการจากเลอ บราซู ที่มาสาธิตทักษะการประดิษฐ์เรือนเวลาแบบดั้งเดิม พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมร่วมทดลองประกอบเรือนเวลาแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

 

 


 

INVITED ARTIST: ARIN RUNGJANG กับโชว์เคสชิ้นพิเศษ “Voyage” ที่นำเสนอเรื่องราวของสถานที่ต้นกำเนิดในการรังสรรค์เครื่องบอกเวลา  ชั้นสูง จินตนาการและความทรงจำไว้ในหนึ่งเดียว ประกอบด้วยส่วนแสดงหลักอย่างภาพนิ่งและวิดีโออินสตอลเลชั่นที่สอดแทรกเสียงเรียกแห่งธรรมชาติและท่วงทำนองของจักรกลเวลาไว้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยที่มาของแรงบันดาลใจครั้งนี้เป็นการหยิบยกความทรงจำถึงสถานที่ทั้งในและโดยรอบ เลอ บราซู

รวมถึงมุมมองของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ ที่ล้วนแต่มีภูมิหลังหรือความทรงจำที่แตกต่างกันออกไป ส่วนหนึ่งของเรื่องราวอันแสนประทับใจยังถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษรบนฉากหลังในวิดีโอ อินสตอลเลชั่นอีกด้วย อีกกิมมิคที่เติมแต่งปัจจัยเฉพาะบุคคลไปสู่ความทรงจำร่วมที่ “Voyage” สร้างขึ้นในจินตนาการของผู้รับชมนั่นเอง

 


อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินรับเชิญ กล่าวว่า เพราะทุกที่บนโลกแห่งนี้ล้วนมีเรื่องราวและสิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจอยู่เสมอ คอนเซ็ปต์ของงานชิ้นนี้จึงเป็นการถ่ายทอดเศษเสี้ยวของความทรงจำในช่วงเวลาที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำต่อสถานที่ต้นกำเนิดอย่าง เลอ บราซู หรือความทรงจำของผู้คนที่อาศัยที่นี่ โดยผมหวังว่าถึงแม้ผู้มาเยี่ยมชมจะยังไม่มีโอกาสไปเยือนสถานที่ในความทรงจำเหล่านั้น แต่พวกเขาก็สามารถจินตนาการและสัมผัสได้ถึงแก่นแท้ของเรื่องราวผ่านทางภาพนิ่งและวิดีโอ อินสตอลเลชั่นที่โอเดอมาร์ ปิเกต์และผมร่วมกันครีเอทขึ้นนั่นเอง 

จากจุดเริ่มต้นในปี 1875 แม้ยุคสมัยและสไตล์จะเปลี่ยนไปเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่โอเดอมาร์ ปิเกต์ยังคงยึดมั่นอย่างแน่วแน่คือวิธีการคิดอันแสนท้าทาย เพื่อเผยให้เห็นถึงนวัตกรรมชั้นเลิศและศาสตร์แห่งศิลป์อันเชี่ยวชาญ นิทรรศการครั้งนี้จึงหลอมรวมเหตุการณ์สำคัญๆในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ไว้อย่างครบครัน โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 17 มิถุนายน 2561 เวลา 10.30 – 20.00 . ชั้น G ลานเอเทรี่ยม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี