Longines185th Anniversary

BY Editor One

  • 30 พฤศจิกายน 2560
  • 6,274

นิทรรศการฉลองครบรอบ 185 ปี Longines ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย ได้นำนาฬิกาโบราณที่หาชมได้ยากยิ่ง 29 เรือนส่งตรงจากพิพิธภัณฑ์ลองจินส์มาจัดแสดงไว้ที่ประเทศไทย เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ถึงความเป็นมาและความสำเร็จของ Longines เรือนเวลาแห่งวิจิตรศิลป์ตลอดทั้ง 185 ปีแห่งความสำเร็จ  

 

 

ภายในนิทรรศการ Longines 185th Anniversary นี้นำเสนอประวัติศาสตร์อันยาวนานของ Longines ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ..1832 เมือง Saint-lmier (แซงติมิเยร์) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แรกเริ่มเดิมที กิจการของ Auguste Agassiz (ออกุสต์ อกาสซีส์) ผู้ก่อตั้ง มีลักษณะเป็นเคาน์เตอร์ (comptoir)  โดยรับประกอบนาฬิกาตามใบสั่ง โดยในเวลานั้น ผู้ผลิตนาฬิกาจะประกอบชิ้นงานหรือผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาอยู่ที่บ้าน เมื่อประกอบเสร็จแล้วจึงส่งมอบงานให้กับอกาสซีส์

 

จนกระทั่งปี .. 1867 Ernest Francillon (แอร์เนสต์ ฟรองซิญง) ผู้เป็นหลานซึ่งเข้ารับช่วงกิจการต่อต้องการผลิตชิ้นส่วนกลไกและทำการประกอบในโรงงานเดียวกันเพื่อให้สามารถประกอบนาฬิกาได้อย่างครบวงจรในจำนวนมากขึ้น จึงได้ตัดสินใจซื้อที่ดินเพิ่มเติมและตั้งโรงงานบนที่ดินหุบเขาริมแม่น้ำที่เรียกกันว่า “Es Longines” (Long Medows) และได้กลายมาเป็นชื่อแบรนด์อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา 

 

 

 

ผลงานมากมายที่ออกจากโรงงานแห่งนี้คือนิยามของความคลาสสิก และสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของ Longines ได้เป็นอย่างดี  ดังเช่น ผลงานเก่าแก่หาชมได้ยากจากพิพิธภัณฑ์ซึ่งนำมาจัดแสดงให้ได้ชมอย่างใกล้ชิด โดยจำแนกออกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

                          

WATCHMAKING – POCKET WATCHES ตั้งแต่ค.. 1832 จนถึงทศวรรษที่ 1930 Longines ผลิตนาฬิกาพกเป็นส่วนใหญ่ โดยในช่วงแรกเน้นนาฬิกาพกที่แข็งแกร่งทนทานสำหรับใช้งานก่อนจะเริ่มผลิตนาฬิกาที่มีกลไกและตัวเรือนขนาดบาง ซึ่งบางรุ่นตกแต่งประดับประดาอย่างดงามไม่ต่างจากเครื่องประดับอัญมณีเลยทีเดียว นาฬิกาในยุคนี้ที่นำมาจัดแสดงให้ชมมีทั้งสิ้น 3 เรือน คือ นาฬิกาพกที่มีการสลักเสลาและเพนต์ลายภาพทิวทัศน์ลงบนหน้าปัดอย่างวิจิตรบรรจง (.. 1892) นาฬิกาพกเทคนิคถมทองเป็นลวดลายดอกไม้ (.. 1915) และนาฬิกาพกหน้าปัดสีขาวแสดงเวลา 24 ชั่วโมง (.. 1917) 

 

 

ELEGANCE – WOMEN WATCHES เมื่อโลกเข้าสู่ยุคนาฬิกาข้อมือในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ผลงานของ Longines ก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะนาฬิกาข้อมือสำหรับสุภาพสตรี โดยแต่ละเรือนสะท้อนถึงความเรียบง่าย ความสมบูรณ์แบบ และความสง่างามซึ่งถือเป็นหัวใจของแบรนด์ รวมถึงกลไกอันงดงามด้วย ดังเช่นผลงาน 3 รุ่นที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ คือ นาฬิกาตัวเรือนทองทรงตอนโนเรียบๆ ทำงานด้วยกลไกไขลาน (.. 1917) นาฬิกาตัวเรือนทองทรงกลม ทำงานด้วยกลไกไขลาน (.. 1959) และนาฬิกาตัวเรือนทรงเหลี่ยมสไตล์อาร์ตเดโคฝังเพชร ทำงานด้วยกลไกไขลาน ( ..1931) ทั้งสามเรือนนี้ล้วนสะท้อนถึงความงามอันไร้กาลเวลาของนาฬิกา Longines ได้เป็นอย่างดี

 

 

FLAGSHIP อีกหนึ่งคอลเลกชั่นนาฬิกาข้อมือที่เป็นไฮไลท์ของ Longines และมีประวัติศาสตร์ยาวนานก็คือ Flagship ซึ่งออกแบบขึ้นในช่วงปลายปีค.. 1956 จดลิขสิทธิ์ชื่อและวางจำหน่ายในปีค.. 1957 เหตุที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะในยุคแรกๆ ฝาหลังตัวเรือนมีการแกะสลักหรือแสตมป์ภาพเรือธงซึ่งทำหน้าที่บังคับบัญชากองเรือ (Flagship) คอลเลกชั่นนี้สะท้อนถึงความความสง่างามคลาสสิกแบบนาฬิกาเดรส และได้รับความนิยมมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยในนิทรรศการนี้ ได้มีการนำผลงานในตระกูล Flagship มาจัดแสดงถึง 3 เรือนด้วยกัน คือรุ่นตัวเรือนทองทรงกลมหน้าปัดสีน้ำเงิน ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ (.. 1963) รุ่นตัวเรือนสตีลทรงกลม หน้าปัดขาว ทำงานด้วย กลไกอัตโนมัติ (.. 1960) และรุ่นตัวเรือนสตีลทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ทำงานด้วยกลไกไขลาน (.. 1972)

 

 

PIONEERS & AVIATION  หากพูดถึง Longines แล้ว ไม่กล่าวถึงจิตวิญญาณของนักบุกเบิกและโลกการบินก็คงจะไม่ได้ ด้วยประสิทธิภาพความแม่นยำและการพัฒนานวัตกรรมกลไกใหม่อยู่เสมอ ทำให้นาฬิกาของ Longines เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักบุกเบิกและนักผจญภัยซึ่งออกเดินทางไปสำรวจโลกในช่วงครึ่งแรกศตวรรษที่ 20 โดย Longines ได้พัฒนานาฬิกาที่ช่วยคำนวณตำแหน่งและพิกัดการเดินทางได้อย่างแม่นยำไม่ว่าจะเป็นการเดินทางทางอากาศหรือทางทะเล ดังเช่นผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งนาฬิกาแสดงพิกัดทางอากาศ ผลิตจากอะลูมิเนียมทำงานด้วยกลไกไขลานรวมสองรุ่น (.. 1933 และ 1939)  และนาฬิกามารีนโครโนมิเตอร์สำหรับเรือเดินสมุทร ทำหน้าที่แสดงเส้นลองติจูด (..1918) โดยตัวนาฬิกาติดตั้งอยู่บนฐานวงแหวนซึ่งทำหน้าที่ล็อกให้นาฬิกาอยู่ในแนวระนาบ และบรรจุอยู่ในกล่องไม้

 

 

WRIST-CHRONOGRAPHS  อีกหนึ่งหัวข้อประวัติศาสตร์อันโดดเด่น คือสายสัมพันธ์แนบแน่นระหว่าง Longines กับโลกกีฬา    ดังจะเห็นได้จากการให้ความสำคัญกับการพัฒนานาฬิกาจับเวลา นับตั้งแต่ผลิตนาฬิกาพกโครโนกราฟเมื่อปีค..1878  การพัฒนาคาลิเบอร์  13.33Z (.. 1913) ซึ่งเป็นกลไกโครโนกราฟรุ่นแรกของแบรนด์ที่ออกแบบมาเพื่อนาฬิกาข้อมือ รวมทั้งการพัฒนานาฬิกาโครโนกราฟเปี่ยมประสิทธิภาพรุ่นต่างๆมากมายจนเป็นที่นิยมทั้งในวงการกีฬาอาชีพและมือสมัครเล่น ดังเช่น นาฬิกาข้อมือโครโนกราฟทั้ง  2 เรือนที่จัดแสดงในครั้งนี้ นั่นคือ นาฬิกาข้อมือโครโนกราฟ คาลิเบอร์ 13.33Z (.. 1930) และนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟ คาลิเบอร์ 12.68Z  (.. 1946)

 

 

COUNTERS ส่วนนาฬิกากดจับเวลาในวงการกีฬาอาชีพก็ถือเป็นความโดดเด่นของ Longines เช่นกัน โดยในปี . . 1939 Longines ได้เปิดตัวกลไกคาลิเบอร์ใหม่ที่ออกแบบเพื่อการจับเวลาในวงการกีฬาโดยเฉพาะ กลไกใหม่นี้ซึ่งรวมถึงคาลิเบอร์ 260 ซึ่งใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดที่ช่วยให้สามารถอ่านค่าเวลาได้ง่ายขึ้น ทั้งยังตอบสนองความต้องการด้านการจับเวลาที่แม่นยำและละเอียดสำหรับการแข่งขันกีฬาแบบมืออาชีพ

 

 

QUARTZ นอกจากนาฬิกาจักรกลแล้ว ในนิทรรศการนี้ ยังได้จัดแสดงนาฬิกาควอตซ์ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกนาฬิกาในยุค 1970s หนึ่งในนั้นคือ นาฬิกาตั้งโต๊ะไม้มะฮอกกานี ทำงานด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ควอตซ์   คาลิเบอร์ 800 ซึ่งพัฒนาขึ้นเมื่อปีค.. 1965  ที่เที่ยงตรงกว่านาฬิกาจักรกลใดๆ และคาลิเบอร์ 6512 หรือที่เรียกกันว่า Ultra-Quartz สำหรับนาฬิกาข้อมือซึ่งพัฒนาขึ้นเมื่อปีค.. 1969 การให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาของ Longines ได้นำไปสู่การพัฒนาผลงานรุ่นใหม่ๆที่ทันสมัย แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาคุณภาพการผลิตและความคลาสสิกที่ยากหาแบรนด์ใดเหมือน โดยยังคงความหรูหรา มีรสนิยม และตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าเป็นอย่างดี