จริงหรือไม่ ผ่าตัดต่อมลูกหมากโตจะหมดสภาพชาย

BY Manop

  • 02 มีนาคม 2561
  • 3,643

โรคประจำตัวที่ผู้ชายเริ่มอายุมากแทบทุกคนจะต้องประสบคือต่อมลูกหมากโต ทำอย่างไรได้เมื่อท่อปัสสาวะและทางเดินของน้ำเชื้ออสุจิเพศชายเป็นท่อเดียวกัน แต่จะมีต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่ปิดกั้น คราใดที่มีการปัสสาวะต่อมลูกหมากจะกั้นไม่ให้น้ำเชื้ออสุจิออกมาพร้อมกัน

 

 

เมื่ออายุมากขึ้น ผู้ชายเกือบทุกคนจะประสบปัญหาต่อมลูกหมากโต โดยอาการจะแสดงตอนที่ยืนปัสสาวะ ปัสสาวะจะหยด หยอด ไหลออกช้า จนกระทั่งอาการมากจนปัสสาวะไม่ออก โดยปกติผู้ชายที่มีอาการจะทราบว่าตนเองมีอาการก็ต่อเมื่อแพทย์เฉพาะทางตรวจวินิจฉัยแล้ว วิธีตรวจแบบง่าย คือแพทย์จะใช้วิธีล้วงเข้าไปคลำขนาดของต่อมลูกหมากทางทวารหนัก แพทย์จะวินิจฉัยเองว่าสมควรจะผ่าตัดหรือไม่ เมื่อแพทย์ตรวจแล้วว่าต่อมลูกหมากโต จะทดสอบให้ลองปัสสาวะ เพื่อทดสอบความแน่ใจ ก่อนที่จะตัดสินใจผ่าตัด

 

 

การแพทย์สมัยใหม่การผ่าตัดจะใช้วิธีส่องกล้อง จะใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง โดยคนไข้ที่มีอาการต่อมลูกหมากโตจะต้องได้รับการทำให้หมดความรู้สึกตั้งแต่ช่วงเอวลงไป ก่อนทำการส่องกล้อง แพทย์จะสอดสายเข้าไปทางท่อปัสสาวะและสนทนากับคนไข้ขณะผ่าตัด เพื่อป้องกันอาการหวาดกลัว คนไข้จะได้กลิ่นคล้ายกลิ่นไหม้เท่านั้น เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้นแพทย์จะสวนปัสสาวะชายคนไข้ออกทางสายยาง

จะมีเลือดปนออกมาพร้อมกับน้ำปัสสาวะ คนไข้พักฟื้นอยู่ประมาณสองสามวันที่โรงพยาบาลก็จะกลับบ้านได้ ชายคนไข้จะมีอาการปวดขัดที่ทางเดินปัสสาวะจากนั้นประมาณสองสัปดาห์ จนกระทั่งเลือดที่ค้างอยู่ภายในหมดไป นอกจากการผ่าตัดแล้ว ชายคนไข้บางรายแพทย์เฉพาะทางอาจใช้ยาในการรักษา แต่ส่วนใหญ่แล้ว ประสิทธิภาพในการรักษาสู้การผ่าตัดส่องกล้องไม่ได้

 

 

 

อย่างไรก็ตามวิธีตรวจหาความผิดปกติชายที่มีอายุตั้งแต่สี่สิบห้าปีขึ้นไปควรจะตรวจวัดค่าเอนไซม์ที่ต่อมลูกหมากหลั่งออกมา (PSA) ในเลือด ซึ่งปกติจะมีค่าอยู่ไม่เกิน 4 ส่วนการตรวจ จะต้องเจาะเลือดเพื่อวัด จะทำได้พร้อมกับการตรวจสุขภาพคัดกรองโรคประจำปี และสุดท้ายจากการรายงานทางการแพทย์ว่าการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องจะไม่ทำให้ความเป็นชายเสียไป.

 


เอกสารอ้างอิง:

  • วิทยานิพนธ์ : คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโรคต่อมลูกหมากโต / ศิริวรรณ ชาญสุกิจเมธี; 2540 ทุน C.M.B. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คู่มือความรู้ภาคประชาชน เรื่องต่อมลูกหมากโต พิมพ์ครั้งที่ 1; 72 หน้า, กรุงเทพ, คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, 2559