ONE DAY WITH LEICA

• #ONELEICA

BY Staff writer Seven

  • 06 ตุลาคม 2560
  • 5,992

ผ่านไปเรียบร้อยแล้วกับการเวิร์คช็อปครั้งแรกในกรุงเทพฯ กับ Leica ที่ให้แฟนๆ ผู้หลงใหลในการถ่ายภาพกับเหล่า Leica Ambassadors ทั้ง 5 ท่าน ได้มาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพผ่าน 5 ภารกิจ 5 สถานที่ในวันอาทิตย์ที่ฝนพรำ..

 

 

 

ในช่วงเช้าก็จะเป็นการพูดคุยจากเหล่า Ambassadors ทั้ง 5 ท่าน เล่าถึงประสบการณ์ ว่าเริ่มเข้ามาจับกล้องถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไหร่ จุดเปลี่ยนของชีวิต แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ รวมถึงประสบการณ์การมี Leica เป็นเสมือนเพื่อนร่วมเดินทางในการเก็บทุกความทรงจำไว้ในภาพแต่ละใบ ซึ่งทั้ง 5 ท่านก็ให้มุมมองและความรู้สึกที่แตกต่างกันไป ได้ฟังกันเพลินๆ ยาวไปจนถึงเที่ยงวันกันเลย

 

 

 

 

 

 

ในช่วงบ่ายก็มีการแบ่งผู้เข้าร่วมงานออกเป็นทั้งหมด 5 กลุ่มเพื่อร่วมภารกิจไปกับ Leica Ambassadors ของตัวเองโดยเวิร์คช็อปครั้งนี้ METRO-SOCIETY ของเราได้อยู่ในกลุ่มของคุณตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ซึ่งเป็นเซียนถ่ายภาพขาวดำ กล้อง Leica ที่เลือกใช้ในวันนี้คือรุ่น Leica M Monochrome ซึ่งเป็นรุ่นที่สร้างมาเพื่อผู้ชื่นชอบถ่ายสไตล์ Monochrome หรือภาพขาวดำโดยเฉพาะ

 

 

 

โดยทีมของเราตั้งใจที่จะเริ่มต้นที่ตลาดน้อยแต่สภาพอากาศไม่ค่อยเป็นใจเท่าไร  ฝนตกลงมาเป็นเวลาพักใหญ่ เลยต้องไปหลบฝนอยู่ในคาเฟ่ย่านนั้น ระหว่างรอนั้นคุณตุลย์เลยได้แนะนำถึงการแก้ไขสีของภาพโดยการใช้ white balance การจัดองค์ประกอบของภาพและการจับจังหวะต่างๆ ของสิ่งที่ต้องการจะถ่าย พอฝนเริ่มซาจึงเริ่มออกไปถ่ายจุดแรกนั่นคือ โบสถ์กาลหว่าร์ (โดยคำว่า “กาลหว่าร์" น่าจะมาจากคำว่า กัลวารีโอ เนินเขาที่ทำการตรึงพระเยซูที่กางเขนนั่นเอง) เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทรงกอทิก 

 

 

 

 

คุณตุลย์เป็นอาจารย์พิเศษให้กับคณะมัณทนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมาชิกในทีมจึงพาเรียกกันว่า อาจารย์ตุลย์ แต่คุณตุลย์บอกว่า "วันนี้ผมไม่ได้มาเป็นอาจารย์ แต่มาเป็นเพื่อนร่วมทริปของทุกคน เรียกตุลย์หรือพี่ตุลย์ก็พอครับ!" ซึ่งทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น กล้าถาม ว่าต้องปรับยังไง จับโฟกัสยังไง ซึ่งพอจะทำให้ได้รูปในโบสถ์มาบ้าง พอออกจากโบสถ์มาฝนก็กำลังหยุดแบบสนิท เราจึงเริ่มปฏิบัติตามภารกิจที่วางไว้คือเดินถ่ายภาพรอบๆ ชุมชนตลาดน้อย

 

 

 

 


 

 

 

 

 

สิ่งที่สัมผัสได้จากการถ่ายภาพครั้งนี้คือวิถีชีวิตของผู้คนย่านนี้ ไม่มีนายแบบหรือนางแบบ ไม่มีการโพสต์ท่าหรือจัดวางสิ่งของใดๆ ทุกสิ่งอยู่และเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เราทุกคนเดินไปตามซอยเจออาคารพาณิชย์ขายพวกอะไหล่รถยนต์ มีของเก่าวางเรียงรายข้างทาง พี่ตุลย์ก็แนะนำให้ลองถ่ายกับสิ่งของพวกนี้ดู สิ่งที่เรามองและรู้สึกว่ามันไม่ได้สวยงามหรือดึงดูดอะไร แต่เมื่อลองถ่ายมัน อาจทำให้เห็นความสวยงามที่เกิดขึ้นในภาพ ลองเล็งไปที่ศาลพระภูมิแล้วลองถ่ายดู ก็ได้ความรู้สึกที่แปลกตาไปอีกแบบ

 

 

 

บางครั้งภาพที่ได้กดชัตเตอร์ลงไปอาจจะมีเบลอบ้างหรือเบลอเสียส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ  แต่ก็ได้มุมมองภาพแบบใหม่และประสบการณ์ที่แปลกแก่ตัวเอง มีแม่ค้าขายปลากำลังเข็นแผงปลาเข้าบ้าน พี่ตุลย์ก็เรียกขอให้เป็นนางแบบให้พวกเราหน่อย ทุกคนในทีมก็รัวชัตเตอร์ใส่เปรียบเสมือนคุณป้ากำลังเดินพรมแดงเข้างานประกาศรางวัลอะไรสักอย่าง แต่เราเองก็ถ่ายทันแค่แผงปลาสลิดของคุณป้าเท่านั้นเอง

 

 

 

 


 

 

 

 

 

ยังคงเดินกันต่อไปจนมาถึง โซวเฮงไถ่ หรือ บ้านดวงตะวัน คฤหาสน์เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 220 ปี สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบฮกเกี้ยนแต้จิ๋ว วางผังบ้านแบบคหบดีที่ร่ำรวยในสมัยนั้น โดยที่นี่กำลังมีการสอนดำน้ำอยู่ เจ้าของก็ใจดี อนุญาตให้พวกเราเก็บภาพได้ ตรงจุดนี้พี่ตุลย์สอนให้ตั้งโฟกัสให้แม่น แล้วกดชัตเตอตอร์เลย เพราะว่าความไวโฟกัสของเจ้ากล้อง Leica นั้นสามารถหยุดโมเมนต์ที่ต้องการได้จริงๆ เราเลยตั้งใจจดจ่อรอตอนที่เขาจะก้าวขาลงสระน้ำ แล้วถ่าย ซึ่งมันทำให้ได้ภาพตามที่คิดไว้เป๊ะๆ

 

 

ออกมาด้านหน้าบ้าน มีเจ้าแมวแม่ลูกอ่อนกำลังให้นมลูกอยู่ จึงอยากลองใช้วิธีเดิมอีกครั้งคือเล็งไว้ก่อน เสร็จแล้วลองส่งเสียงว่า "เมี๊ยว!" เพื่อให้เจ้าแมวหันมาตามเสียง พอมันหันกันมาทุกตัว ก็จัดการกด แชะ! ใส่เจ้าครอบครัวเหมียวนี่เลย เหมือนเป็นรูปถ่ายประจำตระกูลยังไงยังงั้น

 

 

 

 

 

 

 


 

จนเดินทางกลับมาที่ชั้น 14 Gaysorn Tower เพื่อนำรูปมารีวิวกัน พี่ตุลย์ก็เปิดรูปของทุกๆ คนในทีมให้ได้ดูกัน ก็มีการแนะนำ ติชมกันไป บางท่านถ่ายสถานที่หรือสิ่งของสิ่งเดียวกันแต่ออกมาคนละแนวคนละมุมมอง ให้ความรู้สึกที่พิเศษจริงๆ ซึ่งพอนำภาพมาเปิดแล้ว ทำให้เห็นว่าไฟล์ภาพคมชัดและละเอียดมากๆ นำไปต่อยอดใช้งานได้อีก

ในความคิดแรกนั้นกล้อง Leica อาจจะรู้สึกไกลตัว ด้วยราคาและประสิทธิภาพที่คิดมาตลอดว่า เราแค่ชอบถ่ายรูปเล่นเฉยๆ Leica คงไม่เหมาะกับตัวเรา แค่กล้องจากโทรศัพท์บางทีก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่จากประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้รู้ว่า กล้องที่สร้างมาเพื่อคนรักการถ่ายภาพจริงๆ นั้น ให้ความรู้สึกที่แตกต่างมาก จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทุกคนที่ไม่รู้จักกันในงานนี้สามารถพูดคุยภาษาเดียวกันได้เข้าใจอย่างคนรู้จักกันมาดีด้วยภาษา "Leica"