Christian Dior Designer of Dreams Exhibition in Tokyo
- 02 มกราคม 2566
- 10,690
นิทรรศการ “คริสเตียน ดิออร์: นักออกแบบผู้สร้างฝัน” CHRISTIAN DIOR: DESIGNER OF DREAMS EXHIBITION
นิทรรศการระดับปรากฏการณ์เพื่อยกย่องเรื่องราวความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่าง Dior กับญี่ปุ่น
หลังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อการตกแต่งหรือ Musée des Arts décoratifs (มูเซ เดซารตส์ เดกอราตีฟส์) ในกรุงปารีส1 นิทรรศการ “คริสเตียน ดิออร์: นักออกแบบผู้สร้างฝัน” หรือ Christian Dior: Designer of Dreams exhibition ก็ได้เดินทางมาจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงโตเกียว หรือ Museum of Contemporary Art of Tokyo (MOT) ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2022 จนถึง 28 พฤษภาคม 2023 ภายใต้การดูแล และอำนวยการของภัณฑารักษ์ฟลอเรนซ์ มูลเลอร์ ร่วมกับงานออกแบบบรรยากาศนิทรรศการเพื่อยกย่องเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยสถาปนิก โชเฮอิ ซิเกะมัตสึ บรรดาผลงาน, ภาพถ่าย ตลอดจนเอกสาร และหลักฐานต่างๆ ถูกนำมาจัดวาง และร้อยเรียงอย่างมีศิลปะเพื่อใช้เล่าเรื่องราวแห่งความรัก และพลังทางการสร้างสรรค์อันสืบทอดยาวนานกว่าเจ็ดสิบห้าปี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์บุกเบิกของคริสเตียน ดิออร์
บนเส้นทางสู่การทำความรู้จักกับชีวิตของนักออกแบบแฟชันผู้ก่อตั้งห้องเสื้อระดับตำนาน ปฐมบทยกย่องความรักที่เขามีต่อศิลปะได้เปิดฉากขึ้นในห้องจัดงานลำดับแรก ท่ามกลางขั้วต่างทางความขัดแย้งระหว่างสีดำกับสีขาว คือเสื้อผ้านิวลุค ผลงานปฏิวัติวงการแฟชันโลก ร่วมกับงานออกแบบอันเป็นตัวแทนแห่งความทันสมัย และโลกยุคใหม่ ซึ่งปรากฏเคียงคู่ไปกับบรรดาหลักฐานแสดงความมิตรภาพผูกพันลึกซึ้งระหว่างคริสเตียน ดิออร์กับญี่ปุ่น2 ไม่ต่างอะไรจากการเดินทางข้ามเวลาจากปัจจุบันย้อนไปสู่อดีต และข้ามทวีปจากกรุงปารีสมาสู่นครโตเกียว เอกสารสำคัญทั้งหลายซึ่งมีการค้นพบในแผนกจัดเก็บผลงานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ได้ถูกนำมาเรียงร้อยอย่างต่อเนื่องตามลำดับเวลาเพื่อรำลึกถึงอิทธิพลจากดินแดนอาทิตย์อุทัยอันนำมาซึ่งความสำเร็จให้กับคริสเตียน ดิออร์ ทั้งในแง่ความเป็นเลิศทางศิลปะวัฒนธรรม หรือรายละเอียดทางงานฝีมือ ด้วยเหตุนั้น เราจะได้เห็นจดหมาย, ภาพร่างแบบ และผลงานบางส่วน หรือเสื้อผ้าบางชุด ซึ่งเคยถูกจัดแสดงในมหานครหลายแห่งของญี่ปุ่น รวมถึงบรรดาของที่ระลึก และเอกสารสัญญากับบัญชีรายการ ทั้งหมดนี้คือบทอ้างอิงการทำงานกันอย่างใกล้ชิดอย่างมิอาจหาใดเปรียบระหว่างดิออร์กับบริษัทสิ่งทอ และห้างสรรพสินค้าไดมารู หรือกับบริษัทเครื่องสำอางคาเนโบ
การเดินทางย้อนเวลาดำเนินอย่างต่อเนื่องด้วยผลงานสร้างสรรค์ชิ้นเด่น ซึ่งออกแบบขึ้นโดยผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ประจำห้องเสื้อ Dior ในแต่ละรุ่น แต่ละยุคสมัยผ่านภาพถ่ายฝีมือของยูริโกะ ทาคากิ แต่ละภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางมิติทรง หรือโครงสร้างเสื้อผ้ากลุ่มต่างๆ ที่มงซิเออร์ ดิออร์ได้ริเริ่มไว้ผ่านมุมมอง และวิถีรังสรรค์ของเหล่าผู้สืบทอด ท่ามกลางบรรยากาศตกแต่งสถานที่จัดงานอันแสนเรียบง่ายตามขนบสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น หลังผ่านช่วงเวลาดุจฝัน ซึ่งเนรมิตขึ้นด้วยภาพพิมพ์สะกดสายตาของช่างภาพเปี่ยมฝีมือ ผู้มาเยือนก็จะมาถึงห้องตกแต่งผ้าใบขาวสว่างเจิดจ้า อำนวยต่อการสำรวจดูทุกรายละเอียดทางงานฝีมืออันเป็นเลิศของช่างตัดเย็บผู้ร่วมกันถ่ายทอดสัดส่วนโค้งเว้าจากแบบร่างเสื้อผ้ากลุ่มต่างๆ ของดิออร์ให้กลายเป็นผลงานสวมใส่ได้จริง
เพื่อสะท้อนถึงอิทธิพลอันมีให้แก่กันระหว่างสุนทรียศิลป์แบบฉบับญี่ปุ่น กับมุมมองประดิษฐกรรมแห่ง Dior สวนย้อนยุคสุดอัศจรรย์คือการยกย่องความงดงามแห่งธรรมชาติผ่านหัตถศิลป์งานกระดาษของศิลปินอายูมิ ชิบาตะ หลากแนวทางการออกแบบอันเป็นที่รักยิ่งของ House of Dior จากทองคำล้ำค่ามาสู่ความตระการตาของมวลพฤกษา จากน้ำหอม J’adore มาสู่ Miss Dior ทุกอย่างพลันปรากฏต่อสายตา ในขณะที่ Colorama3 หรือตู้เก็บของมหัศจรรย์อันเต็มไปด้วยสิ่งของแปลกตาหลากสรรพสีจากหลายท้องถิ่นทั่วโลก ซึ่งได้รับการรังสรรค์ขึ้นโดยฝีมือของโฌเอ็ล แอนเดรียโนเมียริโซอา เพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของเครื่องประดับทั้งหลายของ Dior จากเครื่องสำอาง และน้ำหอมไปจนถึงหมวก ที่ได้รับการสรรค์สร้างขึ้นโดยสตีเฟน โจนส์ ช่างทำหมวกชื่อดังแห่งอังกฤษ นอกจากนั้น ผู้มาเยือนยังจะได้พบกับผลงานต้นแบบของเสื้อผ้าชุดต่างๆ ซึ่งเคยถูกสวมใส่โดยสุภาพสตรีผู้มีชื่อเสียงเจิดจรัสอย่างที่สุดของโลก จากเกรซ เคลลีมาจนถึงนาตาลี พอร์ตแมน ตลอดจนมาริลิน มอนโรในรูปแบบภาพพิมพ์สกรีนสีอันโด่งดังของแอนดี วาร์ฮอลถึงสามชิ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในครอบครองของ MOT เช่นเดียวกับผลงานหลายชิ้นที่ได้ถูกเลือกสรรออกมาจากคอลเลคชันทรงคุณค่าของพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้
อีกช่วงเวลามหัศจรรย์ปรากฏในรูปแบบของชุดราตรียาวหรูหราตระการตาสำหรับสวมใส่ไปร่วมงานลีลาศอันเกริกไกร จากนั้นก็มาถึงจารึกบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ของมหากายพ์ศิลปะ นั่นก็คือกระเป๋าถือ Lady Dior ผลงานระดับไอคอนที่อยู่เหนือกระแสความนิยมของยุคสมัย และได้รับการรังสรรค์ ดัดแปลงเป็นผลงานรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายรุ่น อีกทั้งยังมีโอกาสเดินทางข้ามทวีปให้สายตาของคนทั่วโลกได้ประจักษ์ผ่านนิทรรศการ Lady Dior As Seen By ตลอดจนโครงการศิลปะสานฝันสรรค์สร้างกระเป๋า Dior Lady Art editions อันเป็นการระดมศิลปินหลากสาขาทั่วโลกมาร่วมกันมอบแรงบันดาลใจใหม่ๆ สู่การออกแบบกระเป๋าอันทรงแบบฉบับ จากกรีกสู่สเปน, จากอินเดียสู่อียิปต์มาจนถึงญี่ปุ่น ซึ่งล้วนได้หล่อหลอมผลงานสไตล์ Dior ในรูปโฉมใหม่สำหรับแต่ละฤดู ในส่วนของบทส่งท้ายสุดเซอร์ไพรส์คือประสบการณ์ล้ำค่าที่ทุกสายตาจะได้ดื่มด่ำผ่านเดรสสุดวิจิตรบรรจง ผลงานการประดิษฐ์โดยศิลปินหญิง เพนนี สลิงเกอร์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสถาปัตยกรรมอันทรงแบบฉบับหน้าตัวอาคารเลขที่ 30 บนถนนมงแตญ เมื่อครั้งที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยได้พบกับความฝันของคริสเตียน ดิออร์ จากศิลปะสู่แฟชัน
1นิทรรศการจัดแสดงผลงานย้อนอดีตเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีของ House of Dior จัดขึ้นในกรุงปารีสระหว่างปีค.ศ. 2017 ก่อนนำไปดำเนินการจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน, นครเซี่ยงไฮ้, เมืองเฉิงตู, กรุงโดฮา และมหานครนิวยอร์ก
2ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก คริสเตียน ดิออร์มีความสนใจ และผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นในฐานะแดนไกลชวนฝัน ซึ่งเขาไม่เคยหยุดยั้งสรรค์สร้างผลงานอันมีบทอ้างอิงถึงสถานที่แห่งนี้ และนอกจากความผูกพันทางจิตใจแล้ว ก็ยังมีธุรกิจที่ดำเนินร่วมกันอย่างต่อเนื่องดังปรากฏเรื่องราวทั้งหมดได้จากเอกสารเพิ่มเติมเพื่อการประชาสัมพันธ์ “ดิออร์กับญี่ปุ่น: มิตรภาพอันงดงาม” (Dior et le Japon, une amitié passionnée)
3ตู้กลไกประดิษฐกรรมจากบริษัทหัตถศิลป์ Alighieri
ภาพถ่ายในแค็ตตาล็อกประกอบนิทรรศการครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของยูริโกะ ทาคากิ
ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นสำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดนิทรรศการ Christian Dior: Designer of Dreams ซึ่งจะเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ที่พิพิภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงโตเกียว (Museum of Contemporary Art of Tokyo) ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2022 หนังสือรวบรวมผลงานเล่มใหม่นี้จัดทำขึ้นเพื่อยกย่องมรดกทางการออกแบบ และความทันสมัยของ House of Dior นับจากปีค.ศ. 1947 จวบจนปัจจุบัน
ท่ามกลางภาพถ่ายสะกดสายตาผ่านเลนส์กล้องของช่างภาพยูริโกะ ทาคากิ นับเป็นครั้งแรกที่มีผลงานอันแสดงให้เห็นถึงความผูกพันลึกซึ้งซึ่งมงซิเออร์ ดิออร์มีกับประเทศญี่ปุ่นร่วมกับการเรียงเรียบเนื้อหา เรื่องราวอย่างที่ไม่เคยมีการจัดทำมาก่อนโดยคาซูโอ โคอิเกะ, อาคิโกะ ฟูคาอิ, คายะ สึจิตะ, ฟลอเรนซ์ มูลเลอร์, แว็งซ็องต์ เลเรต์ และโอลิวิเอร์ ฟลาวิอาโน ราวกับเป็นบทประพันธ์ร้อยเรียงขึ้นเพื่อย้อนรำลึกถึงมรดกวัฒนธรรมอันทรงเอกลักษณ์ประจำ House of Dior
นิทรรศการเปิดให้เข้าชมได้ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ ระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 18.00 น.
รอบสุดท้ายที่เปิดให้เข้าชมคือเวลา 17.30 น.
แนะนำให้ทำการสำรองจัดเข้าชมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมผ่านลิงค์ด้านล่างนี้: