IWC Schaffhausen • Portugieser Eternal Calendar
- 26 สิงหาคม 2567
- 3,153
เปิดตัวนาฬิกา “Portugieser Eternal Calendar” (ปฏิทินตลอดกาล) ในงาน Watches and Wonders Geneva นับเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดอีกครั้ง ด้วยนาฬิกาปฏิทินตลอดกาลรุ่นแรกที่คำนวณตามหลักฆราวาส (Secular) ซึ่งแตกต่างจากแบบดั้งเดิม
นาฬิกา “Portugieser Eternal Calendar” ไม่เพียงแค่แสดงความยาวต่างกันของแต่ละเดือน และเพิ่มวันอธิกสุรทินทุกๆ 4 ปีเท่านั้น แต่ยังคำนวณตามกฎการยกเว้นวันอธิกสุรทินที่ซับซ้อนของปฏิทินเกรกอเรียนอีกด้วย กลไกใหม่ที่ออกแบบพิเศษ 400 ปี ช่วยให้ปฏิทินสามารถข้ามวันอธิกสุรทินไปได้ 3 ครั้งในรอบ 4 ศตวรรษ โดยจะเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2100 อีกจุดเด่นสำคัญคือ การแสดงข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ที่มีความแม่นยำสูง ด้วยชุดเฟืองลดทอนที่พัฒนาขึ้นใหม่ ทำให้ “Double Moon™” แสดงข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ เบี่ยงเบนไปเพียง 1 วัน หลังจากผ่านไป 45 ล้านปี
“Portugieser Eternal Calendar” ตัวเรือนผลิตจากแพลตินัม ขัดเงาอย่างประณีต ประกบกับสายหนังจระเข้สีดำจาก Santoni การออกแบบเน้นความโปร่งใสด้วยกระจกหน้าปัดและกระจกแซฟไฟร์แบบกล่องสองชั้น เผยให้เห็นกลไกอันชาญฉลาดภายใน ความโปร่งใสนี้ยังสร้างสัมผัสแห่งความเบา สบาย และหรูหราอย่างเรียบง่าย
การแปลปฏิทินที่ไม่สม่ำเสมอให้กลายเป็นกลไกนาฬิกาข้อมือ ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสูงสุดของงานนาฬิกาชั้นสูง ปฏิทินเกรกอเรียนซึ่งใช้กันทั่วโลก แบ่งปีเป็น 12 เดือน เดือนละ 28, 30 หรือ 31 วัน ปีที่หารด้วย 4 ลงตัวถือเป็นปีอธิกสุรทิน มีการเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์ แต่ยังคงต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้ปฏิทินสอดคล้องกับปีสุริยคติที่แท้จริง นั่นคือ เฉพาะปีศตวรรษที่หารด้วย 400 เท่านั้นจึงจะเป็นปีอธิกสุรทิน ส่วนปีศตวรรษอื่นๆ เป็นปีธรรมดา ตัวอย่างเช่น ปี 2000 และ 2400 เป็นปีอธิกสุรทิน ขณะที่ปี 2100, 2200 และ 2300 เป็นปีธรรมดา
นาฬิกาปฏิทินตลอดกาลแบบดั้งเดิมนั้น ตั้งโปรแกรมไว้สำหรับรอบ 4 ปี โดย 3 ปีธรรมดา ตามด้วย 1 ปีอธิกสุรทิน ด้วยการออกแบบเช่นนี้ นาฬิกาจะตีความปี 2100 เป็นปีอธิกสุรทิน และจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไข เช่นเดียวกับปี 2200 และ 2300 ดังนั้น นาฬิกาปฏิทินตลอดกาลแบบดั้งเดิมจะต้องได้รับการปรับแก้ไข 3 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 400 ปี
ในทางกลับกัน นาฬิกาปฏิทินตลอดกาลแบบฆราวาส อย่าง “Portugieser Eternal Calendar” (รหัสรุ่น IW505701) ถูกออกแบบเชิงกลไกให้คำนวณความซับซ้อนเหล่านี้เข้าไปด้วย โดยสามารถคำนวณวันอธิกสุรทินได้อย่างถูกต้องอย่างน้อยจนถึงปี 3999 เนื่องจากยังไม่มีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการว่าปี 4000 จะเป็นปีอธิกสุรทินหรือไม่