GUCCI #FW19
• Fall/Winter 2019
- 28 สิงหาคม 2562
- 19,685
หน้ากากในฐานะของตัวแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่มองเห็นได้และมองไม่เห็น เรามาลองคิดกันถึงต้นกำเนิดในเชิงนิรุกติศาสตร์ของคำว่า ‘person’ (บุคคล) ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในภาษาต่าง ๆ ในยุโรปโดยแทบจะไม่ได้เปลี่ยนรูปมาจากคำว่า ‘persona’ ในภาษาละตินเลย แต่เดิม คำว่า ‘persona’ นั้นหมายถึงหน้ากากที่นักแสดงละครสวมใส่เพื่อปกปิดใบหน้าของตัวเอง และชี้นำคนดูให้รับรู้ถึงบทบาทของนักแสดงในละคร นักปรัชญา ฮันนาห์ อเรนด์ท์ (Hannah Arendt)
ได้ทำให้เราระลึกได้ว่าเราคือบุคคลเมื่อเราเลือกหน้ากากซึ่งเราสวมเพื่อปรากฏตัวบนเวทีละครที่ชื่อว่าโลก เราให้นิยามอัตวิสัยและจุดยืนทางจริยธรรมและทางการเมืองของเราผ่านทางการปรากฏตัวในฉากที่เราร่วมแสดง เมื่อเราแสดงตัวตนของเราในที่สาธารณะ เราล้วนเปิดเผยอัตลักษณ์ที่หลากหลายของเราให้กันและกันได้เห็น ด้วยเหตุนั้น พื้นที่ที่ปรากฏให้เห็นนี้จึงเป็นดังตัวแทนของสภาวะแห่งความเป็นไปได้ ของการอยู่ร่วมกันและยังคงดำรงความแตกต่างกันไว้ได้ในคราวเดียวกัน
อคติในเชิงอภิปรัชญามักจะมองหน้ากากในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อปิดบัง เป็นบางอย่างที่ใช้เพื่อลวงว่าสิ่งนั้น คือความจริง บางอย่างที่จะทำให้เรากลายเป็นสิ่งจอมปลอมที่ไม่อาจทำให้เป็นจริงได้ แต่ถ้าหากความจริงแท้ที่เราหมายถึงนั้นคือความเป็นไปได้ที่จะยึดมั่นกับแนวคิดที่เรามีต่อตัวเราเอง เช่นนั้นหน้ากากก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่เราใช้เพื่อให้เราสามารถกลายเป็นคนที่เรารู้สึกว่าเราเป็นจริง ๆ
ความจริงแล้ว หน้ากากกลับยอมให้เราแสดงออกถึงตัวเราในแบบที่เราพอใจและเล่นไปตามบทบาท ของเราตามที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว มันคือความเป็นไปได้ที่จะเลือกว่า เราจะใช้อิสรภาพของเราอย่างไร ในการแสดงออกถึงตัวตนของเรา ผ่านทางเครื่องมือกลั่นกรองที่ทรงพลัง ซึ่งทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ในการคัดสรรสิ่งที่เราต้องการจะแบ่งปันเกี่ยวกับตัวเราและสิ่งที่ต้องการจะปกปิด
ในการสะท้อนธรรมชาติแห่งการปรากฏตัวตน อเรนด์ท์ เน้นย้ำการทำหน้าที่ที่ควบคู่กันไปของมัน ในการเปิดเผยและซ่อนเร้นในเวลาเดียวกัน ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้นไม่เคยเผยตัวเองให้เห็นได้ทั้งหมด การเปิดเผยบางส่วนจะลงเอยด้วยการเก็บรักษาความลับอย่างอื่น ตัวหน้ากากเองนั้นมักจะยึดถือ ขั้วที่ตรงข้ามกันเอาไว้ ระหว่างแรงจูงใจที่ขัดแย้งกัน ซึ่งได้แก่ การแสดงออกมาและการปิดบัง การเปิดเผย และการปกป้อง การโอ้อวดและการถ่อมตัว หน้ากากคือรูปแบบอย่างหนึ่ง และก็เป็นเช่นเดียวกับรูปแบบอื่น ๆ
นั่นคือมันสามารถซ่อมแซมได้ ปกปิดและเปิดเผยได้ในคราวเดียวกัน แท้ที่จริงแล้ว มันประกอบด้วย พื้นผิวสองด้านที่ทำจากสสารเดียวกัน ด้านหนึ่งเป็นส่วนเว้า และอีกด้านหนึ่งเป็นส่วนโค้ง ซึ่งอยู่แนบชิดกัน การรวมตัวของทั้งสองสามารถเชื่อมต่อกันทั้งด้านในและด้านนอก อยู่ในสภาวะที่ทั้งมีตัวตนและไร้ตัวตน มองเห็นได้และล่องหนหายไป ภายใต้หน้ากากนั้น ความลึกจะทับซ้อนกับพื้นผิว ผู้ที่สวมใส่หน้ากาก ก็คือผู้ที่แต่งกายด้วยความเปลือยเปล่า
การเล่นกับความกำกวมอันสุดอัศจรรย์ของหน้ากากนั้น ได้เสนอโอกาสที่จะกอบกู้รากเหง้าแห่งการสร้างสรรค์ ของการมีชีวิตอยู่ของเรา เพื่อใช้ชีวิต “ในฐานะของผู้ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ในหมู่ผู้ที่เสมอภาคกัน” (เอช.อเรนด์ท์) ถ้าหากการปรากฏตัวตนหมายถึง สภาวะเชิงกายภาพแห่งความคิดของเราที่มีต่อตัวเรา ในฐานะบุคคลที่เกี่ยวพันกัน หน้ากากย่อมสามารถเสนอตัวในฐานะของเครื่องมือที่เราจะใช้มอบสิทธิการมีสถานภาพแห่งบุคคลให้แก่การเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายของเรา