DIOR • Winter 2024
- 19 พฤศจิกายน 2567
- 2,581
“ผมคิดมาตลอดถึงความเกี่ยวพันระหว่างมารโกต์ฟ็อนทีย์นนักเต้นระบำปลายเท้ากับมงซิเออร์ดิออร์
การรังสรรค์ผลงานต้นแบบสำหรับผู้หญิงมาถ่ายทอดสู่งานออกแบบเครื่องแต่งกายชายในคอลเลคชั่นนี้ ยังเกี่ยวข้องกับคู่นักเต้นผู้โด่งดังที่สุดของเธออีกคน นั่นก็คือรูดอล์ฟ นูรีเยฟ และตัวนูรีเยฟเองก็โยงใยมาสู่เรื่องราวส่วนตัวของผมผ่านคุณลุงโคลิน โจนส์ของผม ก่อนหน้าท่านจะผันตัวมาเป็นช่างภาพ คุณลุงโคลินก็เคยเป็นนักเต้นระบำปลายเท้ามาก่อน และแน่นอน เขาเป็นทั้งเพื่อน ทั้งช่างภาพให้กับดาราบัลเลต์ระดับตำนานผู้นี้
คอลเลคชั่นนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่าหลายๆ คอลเลคชั่น ล้วนเป็นเรื่องของความขัดแย้ง การอยู่ร่วมกันระหว่างขั้วต่างทางความขัดแย้งภายใน HOUSE OF DIOR ทั้งในแง่มุมของเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเสื้อผ้าชั้นสูง อีกทั้งยังเป็นความแตกต่างระหว่างหน้าฉากกับหลังเวที ชีวิตเหมือนฝันกับชีวิตจริงของนูรีเยฟ และนี่ก็คือการหลอมรวมสไตล์แบบฉบับของนักเต้นดาวเด่นเข้ากับสัญลักษณ์ต่างๆ ทางงานออกแบบภายในแผนกจัดเก็บเอกสาร และผลงานทางประวัติศาสตร์ของ DIOR” คิม โจนส์
บทบรรจบระหว่างประโยชน์ใช้สอยกับสุนทรียศิลป์วิจิตรบรรจงอีกนัยหนึ่งก็คือการใช้งานสวมใส่ในชีวิตประจำวันกับความหรูหราเลอค่าการหลอมรวมความเป็นจริงของมนุษย์ปุถุชนผู้สวมใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้ากับความตระการตาราวกับอาภรณ์บนเวทีการแสดงในงานออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงทั้งหมดดังกล่าวอุปมาได้กับชีวิตของนักเต้นอย่างรูดอล์ฟนูรีเยฟอันมีทั้งส่วนซึ่งถูกพบเห็นผ่านสายตาสาธารณชนและส่วนที่ถูกเก็บงำไว้เป็นส่วนตัว
คอลเลคชั่นฤดูกาลนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่คิม โจนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ประจำแผนกเครื่องแต่งกายชาย DIOR MEN จะนำเสนอผลงานอันเทียบเท่าเสื้อผ้าชั้นสูงควบคู่ไปพร้อมกับเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งถึงแม้จะมีเอกลักษณ์ แสดงความแตกต่าง กระนั้น กลับมีความเกี่ยวพันกันอย่างมิอาจแยกขาด ไม่ว่าจะเป็นความประณีตทางการตัดเย็บ หรือความโดดเด่นทางงานออกแบบ เหนืออื่นใดคือจุดกำเนิดที่มาจากการศึกษา ค้นคว้าในแก่นชีวิตของนูรีเยฟ บุรุษเจ้าของชีวิตสองภาค ซึ่งแต่ละภาคกลับมีความเหมือนตรงกันทางความเป็นเลิศ ระเบียบแบบแผน และความสะดวกคล่องตัว
อีกครั้งที่แผนกจัดเก็บเอกสาร และผลงานทางประวัติศาสตร์ของ DIOR ได้กลายเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจสำคัญ และอีกคราที่งานตัดเย็บเสื้อสูทสตรีฝีมือของแซงต์ โลรองต์ได้ถูกพลิกแพลง จำแลงต้นแบบมาสู่อาณาจักรเครื่องแต่งกายชาย โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่น้ำหนักเชิงสัณฐานทรวดทรง, พื้นที่ หรือช่องห่างระหว่างผืนผ้ากับผิวกาย, งานจับจีบอัดพลีท และคอเสื้อ ในขณะที่สูทสวมไปบาร์หรือ BAR JACKET ของมงซิเออร์ดิออร์ ได้ถูกดัดแปลงมาสู่โครงสร้างมิติทรงสำหรับผู้ชายรองรับลูกเล่นลายทแยงหรือ OBLIQUE แบบฉบับคิม โจนส์ ซึ่งเขาพัฒนาขึ้น และนำมาใช้นับแต่คอลเลคชั่นแรกที่ออกแบบให้แก่ DIOR เสื้อสูทกระดุมสองแถวแปลงแพ็ทเทิร์นจนเป็นเหมือนเสื้อสาบป้ายก็ได้รับปรับสัดส่วนช่วงเอวให้คอดกิ่วแบบสูทไปบาร์รุ่นต้นแบบเช่นเดียวกัน
ความเรียบง่ายของสูทกระดุมแถวเดี่ยว รองรับงานออกแบบสะท้อนกลิ่นอายแฟชันทศวรรษ 1960 และ 1970 อย่างชัดเจน สวมใส่กับกางเกงขายาวปลายบานตัดเย็บจากผ้าทอใยขนสัตว์หรือผ้าวูลหลากโทน และโครงสร้างมิติทรงนี้เอง ที่สไตล์แบบฉบับของนูรีเยฟ กับชุดสวมซ้อมเต้น ได้กลายเป็นลูกเล่นสำคัญ อีกทั้งยังต่อเนื่องมาสู่ชุดหมีหรือจัมพ์สูทซิปหน้าตัดเย็บจากผ้าทอใยขนสัตว์กับกางเกงขาสั้น, ชุดผ้ายืดทอลายร่องนูน (RIBBED KNIT) แนบเนื้อ และเสื้อนอกทรงกระบอกตัดเย็บจากหนังคุณภาพ
ในทางตรงข้าม ความวิจิตรหรูหราจากห้องเสื้อชั้นสูง ได้ถูกนำมาใช้ถ่ายทอดภาพลักษณ์รุ่งโรจน์ดุจฝันของนูรีเยฟ บุรุษผู้งามสง่า และกล้าที่จะสร้างโจทย์ท้าทายตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็ยังสะท้อนถึงรสนิยมพิสมัยของเขาในการสะสมสิ่งทอวัตถุโบราณ แนวคิดนี้ ปรากฏชัดเจนอย่างยิ่งผ่านกิโมโนแบบต่างๆ อันอาศัยเทคนิคงานฝีมือเก่าแก่ ที่ผ่านการฝึกฝนจนเชี่ยวชำนาญจากบรรดาช่างฝีมือหัตถศิลป์ชั้นสูงในญี่ปุ่น อย่างอูชิกาเกะ (UCHIKAKE) สีเงิน ซึ่งตามธรรมเนียมดั้งเดิมคือกิโมโนพิธีการสีขาวล้วนที่เจ้าสาวจะใช้สวมเข้าพิธีแต่งงานนี้ ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับบุรุษโดยตัดเย็บจากผ้าทอด้วยเทคนิคฮิกิฮากุ (HIKIHAKU) อันเป็นหัตถกรรมสุดสลับซับซ้อนจากการใช้โลหะล้ำค่าอย่างเงิน, ทอง หรือแพลทินัมมาตีจนเป็นแผ่นแบบทองคำเปลว ก่อนประกบเข้ากับกระดาษเคลือบเงา (แล็กเกอร์) ให้มีความแข็งแรง แน่นหนา แล้วจึงนำไปตัดด้วยมือเป็นเส้นใยสำหรับนำไปใช้ทอผ้า ผ้าทอเส้นใยเมทัลลิกด้วยเทคนิคฮิกิฮากุนี้ เป็นหนึ่งในครอบครอง และนิยมสวมใส่อย่างยิ่งของนูรีเยฟ แต่ละผืนต้องใช้ช่างฝีมือถึงสิบคนกับเวลาผลิตนานถึงสามเดือน นอกจากนั้น งานปักที่พบในแผนกจัดเก็บเอกสาร และผลงานทางประวัติศาสตร์ของ DIOR ก็ยังถูกนำมารังสรรค์ใหม่ให้กลับมาเจิดจรัสตระการตาในรูปแบบเครื่องแต่งกายชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุดผ้าเลื่อมเกาะอกลากหางยาวนาม DEBUSSY (เดอบุซซี) ที่มงซิเออร์ดิออร์ออกแบบ และมารโกต์ ฟ็อนทีย์นสั่งตัดเพื่อสวมใส่รับฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนปีค.ศ. 1950
อีกครั้งที่เครื่องประดับทั้งหลายได้สะท้อนถึงความเรียบง่าย, ศิลปะปฏิบัติ และความหรูหราตระการตาแห่งโลกแฟชันคู่ขนาน ซึ่งความเหมือนคือความแตกต่าง อย่างโครงสร้างรองเท้าตัดเย็บจากหนังซาน คริสปิโน อันเป็นที่รู้จักกันดีถึงความแข็งแรง ทนทาน ถูกนำมาประกอบเข้ากับขั้วต่างทางความขัดแย้งของรองเท้าผ้าใบแมรี-เจนทำจากผ้าไหมใยสังเคราะห์ ให้ความรู้สึกถึงรองเท้าสวมเต้น ซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยความยืดหยุ่น และคล่องตัว กระนั้นก็ยังเป็นบทสรุปถึงธรรมเนียมชุดกลางคืนของบุรุษได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับบรรดาโครงสร้างกระเป๋า “สารพัดช่าง” กลับนำมาใช้กับวัสดุเนื้อนุ่มเพื่อเป็นกระเป๋าสะพายข้างรองรับความโดดเด่นให้แก่หลากสัญลักษณ์ประจำ HOUSE OF DIOR อาทิเช่นกระเป๋าสะพายทรงกระเป๋ากล้องขนาดโอเวอร์ไซซ์ตัดเย็บจากหนังลายเกล็ดธรรมชาติ ตกแต่งลายสานหวายขนาดใหญ่ MACROCANNAGE กับกระเป๋าคาดเอว (BUM BAG) แบบต่างๆ ส่วนหมวกกำมะหยี่สุดหรู ซึ่งสตีเฟน โจน์ออกแบบไว้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 สำหรับคอลเลคชั่นเครื่องแต่งกายสตรี DIOR ก็ถูกดัดแปลงมาเป็นรูปทรงสำหรับผู้ชายโดยอาศัยรูปแบบผ้าโพกศีรษะนักเต้น ซึ่งทำจากผ้าเจอร์ซีย์ทอไหมลายเกลียว
สำหรับการแสดงคอลเลคชั่นเครื่องแต่งกายชาย DIOR ประจำฤดูหนาว 2024-2025 เป็นผลงานกำกับโดยเบลลี วอล์ช ดนตรีประกอบโดยแม็กซ์ ริชเตอร์ ซึ่งเรียบเรียงเสียงประสานมาจากงานเพลงต้นแบบของเซอร์เก โพรโคเวียฟสำหรับการแสดงครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบำอัศวิน” หรือ DANCE OF THE KNIGHTS ซึ่งตัดตอนมาจากระบำปลายเท้า “โรมิโอ กับจูเลียต” ของโพรโคเวียฟ นำแสดงโดยนูรีเยฟกับฟ็อนทีย์นในลอนดอนระหว่างปีค.ศ. 1965