อาหารเพิ่มน้ำหนักสำหรับคนผอม

BY Duty editor

  • 29 มีนาคม 2560
  • 1,875

สำหรับใครที่ 'อ้วนแล้วกำลังอยากจะผอม' จงรู้ไว้ซะว่าคุณน่ะโชคดีสักแค่ไหนแล้ว เพราะการลดความอ้วนนั้นทำได้ง่ายกว่า 'คนผอมแล้วอยากอ้วน' มากมากหลายเท่า หลายๆ คนก็อาจจะคิดว่าก็กินๆ เข้าไปสิเดี๋ยวก็อ้วนเอง หรือให้กินของมันๆ ซะ น้ำหนักก็จะขึ้น แต่รู้หรือเปล่าว่าการทำแบบนั้นนอกจากจะไม่อ้วนขึ้นแล้ว ยังจะสะสมไปออกที่พุงดูน่าเกลียดกว่าเดิมอีกด้วย ดังนั้นหากใครที่ผอมแล้วอยากมีหุ่นที่สมส่วนบ้างก็ลองหันมากินประเภทอาหารที่แนะนำกันวันนี้ดู จะได้ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจกับความขี้ก้างของตัวเอง

 

1.อาหารประเภทโปรตีน 

หลายๆ คนก็อาจจะได้ยินมาบ้างแล้วว่าจะเพิ่มน้ำหนักนั้น ต้องเพิ่มโปรตีนเข้าไปให้ร่างกายให้มากพอจนเอาไปสร้างกล้ามเนื้อได้ ซึ่งนั้นแหละคือเรื่องจริง! โดยปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสมต่อวัน คือโปรตีน 2 กรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น หนัก 60 กิโลกรัม ก็ควรจะกินโปรตีนให้ได้วันละ 120 กรัม ซึ่งอาหารที่มีสารโปรตีนสูงนั้นก็สามารถหาได้ง่ายๆ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดแถวบ้าน ซึ่งไปย้อนดูบทความเก่าที่เราเคยบอกไปแล้วก็ได้ว่ามีอะไรกันบ้าง

 

 

2.อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือคาร์บ

คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายนำมาใช้เป็นพลังงานซึ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในช่วงเพิ่มน้ำหนัก คาร์บมีความสำคัญเพิ่มเติมมาในแง่ของการป้องกันไม่ให้ร่างกายนำกรดอะมิโนที่จำเป็นในการเพิ่มน้ำหนักไปใช้เป็นพลังงาน (amino acid oxidation) และแน่นอนว่าการได้รับสารอาหารประเภทคาร์บที่ได้ผลต่อการเพิ่มน้ำหนักนั้นก็ต้องได้รับอย่างเพียงพอเช่นเดียวกัน 

 

โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้ นำน้ำหนักตัวหน่วยกิโลกรัมคูณด้วย 2.2 เมื่อได้ผลลัพธ์ก็นำมาคูณด้วย 2 อีกครั้ง เสร็จแล้วก็จะได้ปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน เช่น 60x2.2 = 132 | 132x2 = 264 ดังนั้นปริมาณที่ต้องการต่อวันคือ 264 กรัม ซึ่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเยอะก็คือ ข้าว, ขนมปังต่างๆ, อาหารประเภทแป้ง

 

 

 3.นม

ฟังดูแล้วอาจจะไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าหากกินปริมาณมากพอมันก็สามารถเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวเราได้เหมือนกัน โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันก็คือวันละ 4.5 ลิตรหรือ 1 แกลลอน และไม่ใช่จะเอานมรสอะไรก็ได้นะ ขอให้เป็นนมจืดชนิด Whole Milk ที่มีไขมันนมอัดมาเต็มๆ ซึ่งจะได้สารอาหารมากพอในการเพิ่มน้ำหนักในแต่ละวันเลยทีเดียว คือ โปรตีน 148.5 g, คาร์บ 211.5 g, ไขมัน 153.0 g, แคลอรี่รวม: 2,790 Kcal แต่อาหารประเภทนี้ก็ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่แพ้นม ถ้าหากกินแล้วท้องเสียน้ำหนักไม่เพิ่ม แล้วยังจะน้ำหนักลดลงไปอีก

 

 

นอกจากการกินอาหารที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันเพราะน้ำหนักที่เพิ่มนั้น ให้ดีที่สุดต้องมาจากมวลกล้ามเนื้อไม่ใช่ไขมัน ซึ่งคราวหน้าจะกลับมาพร้อมท่าการเล่นเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อมาให้ไปทำตามเพื่อสร้างหุ่นล่ำกัน อย่าลืมติดตามกันนะครับ