5 อาหารเพื่อสุขภาพจริงหรือ?

BY Staff writer Seven

  • 25 สิงหาคม 2560
  • 2,014

เมื่อเรารู้สึกหิวตอนดึกๆ แต่เมื่อตอนเย็นเพิ่งเบิร์นออกไปตั้งหลายร้อยกิโลแคลอรี ถ้ากินอะไรเข้าไปหนักๆ ตอนนี้คงจะรู้สึกผิดมากน่าดู เปิดตู้เย็นมาเจออาหารเฮลท์ตี้ที่ซื้อแช่ไว้ อย่างน้อยกินไปก็ไม่รู้สึกผิดเท่าไร แต่เอาจริงแล้ว เรามั่นใจได้จริงหรือ? ว่านั่นมันดีต่อสุขภาพอย่างที่บอกไว้จริงๆ...

 

 

วันนี้เราจะมายกตัวอย่างให้ดูว่า 5 อาหารที่เรากินเพื่อสุขภาพที่ดีของเรามาตลอดนั้น มันมีคำถามว่าจะดีจริงหรือเปล่า..

 

1. ขนมปังโฮลวีต

หนุ่มๆ ที่ชอบกินขนมปังโฮลวีตย่อมรู้ดีว่ามันดีกว่าการกินขนมปังสีขาวๆ ตั้งเยอะ แต่จะรู้ไหมว่า ขนมปังโฮลวีตบางยี่ห้อก็ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่เราคิด เนื่องจากมีการผสมแป้งขัดขาวในสัดส่วนที่มากกว่าการผสมโฮลวีต แทนการใช้โฮลวีตแท้ๆ ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่เจ้า มากกว่านั้นยังใส่สารกันบูดและมาการีน เราแนะนำว่าให้ลองดูที่ฉลากกันให้ดีก่อนซื้อว่ามีแป้งโฮลวีตมากกว่า 30% มีการใช้เนยแท้และไม่ใส่สารกันบูดด้วย

 

 

 

2. ซุปไก่สกัด

อาจจะต้องตกใจ ถ้าจะบอกว่าการกินซุปไก่สกัดนั้นสิ้นเปลือง เพราะซุปไก่สกัด 1 ขวดมีสารอาหารน้อยกว่าไข่ไก่ครึ่งฟอง หากอยากได้โปรตีนให้กินไข่ทั้งฟองยังได้โปรตีนมากกว่า ข้อดีของซุปไก่สกัดคือย่อยง่าย ไม่ต้องเคี้ยวและดูดซึมไวเท่านั้น เหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องการกินหรือต้องการโปรตีนเร่งด่วน แต่ถ้าร่างกายสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว เมื่อเทียบสรรพคุณกับราคาแล้วนั้น เราแนะนำว่าให้กินไข่จะดีกว่า

 

 

3. รังนก

เมื่อสารอาหารหลักในรังนกได้แก่โปรตีน รองลงมาคือน้ำ แต่หากนำไปเทียบกับไข่ไก่แล้วพบว่ารังนกสำเร็จรูปขนาด 70-75 มิลลิลิตร มีปริมาณโปรตีนน้อยนิด ชนิดที่ว่าเราอาจต้องกินรังนกถึง 26 ขวด เพื่อให้ได้โปรตีนเท่าไข่ไก่ 1 ฟอง ไม่รวมปริมาณน้ำตาลในรังนกขวดที่ใส่เข้ามาเพื่อเพิ่มรสชาติอีกด้วย

 

 

 

4. น้ำผลไม้กล่อง

ไม่ว่าจะน้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล หรือแม้แต่น้ำผัก น้ำกล่องเหล่านี้ให้ผลเสียมากกว่าผลดี ปัญหาของน้ำผลไม้คือปริมาณน้ำตาลที่สูงพอๆ กับน้ำอัดลม เราต้องเข้าใจก่อนว่าผลไม้มีน้ำตาล (ฟรุกโตส ซึ่งกินในปริมาณมากก็ไม่ดีเช่นกัน) แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิด ดังนั้นต่อให้ดื่มน้ำผลไม้ที่บอกว่าไม่ใส่น้ำตาล แต่เราก็ยังได้รับน้ำตาลจากผลไม้อยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้นน้ำผลไม้กล่องไม่ได้ทำมาจากผลไม้จริง ส่วนใหญ่เป็นหัวเชื้อที่สกัดมาอีกที ส่วนน้ำผักก็เช่นเดียวกัน ถ้าพลิกอ่านฉลากด้านหลังจะเห็นว่าส่วนผสมหลักได้แก่น้ำผลไม้ที่มีรสชาติชัดเจนและหวานจัด เช่น องุ่น แอปเปิ้ล ฯลฯ นำมากลบรสชาติผักที่ไม่อร่อยแต่ต้องใส่มาเพราะโฆษณาไว้แล้ว เช่น แครอทหรือขึ้นฉ่ายซึ่งจะอยู่ท้ายๆ ของส่วนผสมที่ใส่มาน้อยมาก ดังนั้นเราควรเปลี่ยนมากินผลไม้ที่เป็นลูกจะดีกว่า เพราะถึงแม้จะมีน้ำตาลแต่ก็ยังได้วิตามิน เกลือแร่ และไฟเบอร์อีกด้วย

 

 

5. โยเกิร์ตไขมัน 0%


การกินโยเกิร์ตเป็นสิ่งที่ดีแต่อยากให้ระวังโยเกิร์ตที่ระบุว่าไม่มีไขมัน เพราะผู้ผลิตมักทดแทนไขมันด้วยปริมาณน้ำตาลที่สูงลิ่ว เช่น โยเกิร์ตสูตรปกติให้มา 7 กรัมแต่สูตรไร้ไขมันใส่มา 19 กรัม (น้ำตาล 4 กรัมเท่ากับ 1 ช้อนชา) ดังนั้นหากคุณเจอโยเกิร์ตไร้ไขมันอย่าเพิ่งด่วนหยิบ ลองพลิกดูฉลากด้านหลังว่าสัดส่วนน้ำตาลเป็นอย่างไร มีฟรุกโตสหรือคอร์นไซรัปแยกมาอีกไหม เพราะสองตัวนี้ก็คือน้ำตาลดีๆ นี่เอง แล้วแถมอีกอย่างว่าโยเกิร์ตผสมผลไม้ก็ร้ายพอกัน เพราะในโยเกิร์ตมีน้ำตาลอยู่แล้ว ส่วนผลไม้ที่ใส่มาให้ก็เชื่อมน้ำตาลมากันอีก หากอยากกินหวานลองใส่น้ำผึ้งหรือผลไม้สดจะดีกว่า

 

 

 

จะเห็นได้ว่าอาหารที่เรายกมาแต่ละอย่างนั้น ไม่ว่าจะขนมปังโฮลวีต น้ำผลไม้กล่องหรือโยเกิร์ตไขมัน 0% เราควรดูส่วนประกอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อกิน ว่ามันดีต่อสุขภาพจริงๆ หรืออย่างซุปไก่สกัดกับรังนก เปลี่ยนมาเป็นการกินไข่ไก่ปกติอาจจะคุ้มกว่าในทุกๆ ด้าน ซึ่งที่จริงแล้วคงมีอีกมากมายสำหรับอาหารที่เราคิดว่ากินไปน่าจะเฮลท์ตี้แต่ที่จริงแล้วร้ายสุดๆ ดังนั้นถ้าไม่อยากตกเป็นทาสโฆษณา ลองพลิกด้านหลังดูฉลากกันสักนิด เพื่อชีวิตที่เฮลท์ตี้จริงๆ ของเรา

 

เชื่อว่าเราทุกคนรักสุขภาพแต่ต้องรักให้รู้จริง ขอให้มีสุขภาพดีกันทุกคนครับ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง: Greenery